คิดจะสร้างสถานีอนามัยให้ชาวบ้านในชนบททั้งที ต่อให้มีงบน้อยแค่ไหนก็ไม่ใช่อุปสรรค และไม่ใช่สักแต่สร้างให้มันเสร็จๆ ไปหรือสร้างออกมาง่อยๆ แลดูอนาถา ถ้ามัวแต่คิดน้อยคิดง่าย แทนที่จะส่งเสริมรักษาสุขภาพ อาจกลายเป็นทำลายสุขภาพใจและกายก็เป็นได้
เดี๋ยวจะหาว่าพูดง่ายแต่ทำยาก งั้นมาดูตัวอย่างดีๆ ที่อินเดียกัน สถานีอนามัยในชนบทอันห่างไกลของเมือง Dharmapuri พื้นที่นี้อยู่ในเขตร้อนค่อนข้างแห้งแล้ง การออกแบบจึงคิดเรื่องสภาพแวดล้อม เพื่อลดความร้อน และแก้ปัญหาความแล้งเป็นหลัก เขาสร้างเป็นอาคารสองชั้น ด้านในเป็นส่วนปฏิบัติการทางการแพทย์ ด้านนอกเป็นจุดพักคอยของผู้มารับบริการ ตรงนี้แหละที่เป็นเปลือกชั้นที่ 2 ของอาคารที่สามารถเปิดปิดระบายอากาศได้ง่าย สร้างด้วยหญ้าแฝกซึ่งเป็นวัสดุในท้องถิ่น สานขึ้นด้วยฝีมือของคนในท้องที่ ในขณะที่มีช่องเปิดให้ระบายความร้อน หญ้าแฝกนี้ยังดูดซับน้ำให้ค่อยๆ ระเหย รักษาความชื้นโดยรอบอาคารไม่ให้แห้งแล้งเกินไป ส่วนหลังคาเป็นวัสดุรีไซเคิลจากบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่มจาก Treta Pack วางโครงสร้างให้สามารถรองรับน้ำฝนไปสำรองไว้ใช้ได้ด้วย นอกจากนี้ยังวางแผนการเพาะปลูกรอบๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากพืชพรรณ ทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและนำเข้ามาหมุนเวียนใช้ในสถานีอนามัยได้ เพราะปลูกทั้งหญ้าเพื่อคลุมดิน ลดฝุ่น แสงสะท้อนดินแสบตา ปลูกหญ้าแฝกเพื่อนำมาเป็นวัสดุซ่อมเปลือกของอาคาร ปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อเป็นร่มเงา และปลูกสมุนไพรเพื่อการรักษาโรคไว้ด้วย
แม้มีงบประมาณอันจำกัด แต่ Flying Elephant สามารถออกแบบที่นี่ให้มีลุคการแพทย์ที่ทันสมัย แต่เรียบง่ายเชื่อมโยงกับท้องถิ่น และยังเป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพ รวมถึงกิจกรรมดีๆ ที่จะตามมากับอาคารนี้ได้ เพราะคิดถึงความยั่งยืนทุกกระบวนการ ทั้งการเลือกวัสดุ โครงสร้าง และวิธีใช้งานอาคาร สถานีอนามัยเล็กๆ แต่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เกินงบจึงได้รางวัล Holcim Award ซึ่งสนับสนุนสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างที่ยั่งยืนซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลกเลยทีเดียว
อ้างอิง : Flying Elephant Studios, Holcim Foundation