‘Hempcrete’ อิฐจากใบกัญชา วัสดุทางเลือกลดรอยเท้าคาร์บอนให้โลก

วัสดุก่อสร้างทุกอย่างที่มาจากระบบอุตสาหกรรมล้วนก่อเกิดปัญหาตามมาภายหลังเป็นส่วนมาก แม้ว่าจะมีการโฆษณาอย่างไรก็ตามว่าเป็นวัสดุที่รักษ์โลก ก็ล้วนส่งผลตามหลังกันมาเป็นทอดๆ ไป อย่างที่เราระเบิดภูเขาเพื่อมาสร้างป่าคอนกรีต เราถางป่าเพื่อล่าไม้มาสร้างบ้าน ซึ่งถ้าหากเราไม่ทำการปลูกป่าทดแทนก็จะมีแต่หมดไปเรื่อยๆ แต่ในความเป็นจริงของโลกเราทุกวันนี้ อุตสาหกรรมการก่อสร้างไม่ได้ลดลงเพราะจำนวนประชาการที่มีแต่เพิ่มขึ้น เราจะเห็นถึงสารพัดโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่กระจายตัวเป็นดอกเห็ดหน้าฝนอยู่ทุกมุมของประเทศไทย แต่คำตอบของอุตสาหกรรมการก่อสร้างดูจะผูกไปกับการทำลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากว่าไหนๆ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็ควรจะเลือกทางที่ทำลายน้อยที่สุด หรือให้มันยั่งยืนจริงๆ มากกว่าจะเป็นแค่ฉลากประดับสินค้าเท่านั้น มันสามารถเริ่มได้จากการคิดที่จะแก้ปัญหานั่นเอง อย่างเช่นการรวมตัวของวัสดุธรรมชาติที่มีเส้นใยธรรมชาติผสมเข้ากับหินปูนอย่างเฮ็มพ์ครีต (Hempcrete) ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่ต้องการบ้านซึ่งมีค่ารอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) น้อยกว่าวัสดุอุตสาหกรรมเดิมๆ ด้วยตัวมันเองเกิดจากการผสมกันของต้นกัญชาหรือป่านที่มีเส้นใยช่วยยึดเกาะเนื้อหินปูนที่เข้ามาผสม ตัวมันเองมีคุณสมบัติกันน้ำ เป็นฉวนวนกันความร้อน มีคุณสมบัติยืดหยุ่นต่อแรงแผ่นดินไหวด้วยลักษณะการยึดต่อกันของแต่ละก้อนบล็อคเฮ็มพ์ครีต และตัวต้นป่านหรือกัญชาที่เป็นวัสดุหลักยังสามารถเติบโตเพื่อนำมาใช้เป็นก้อนบล็อคเฮ็มพ์ครีตเพียง 14 สัปดาห์ แถมตัวมันเองก็ไม่เป็นที่พิสมัยของปลวก เชื้อราอีกเช่นกัน

มองไปยังบ้านเรา เมืองที่มีแสงแดดจัดจ้า ผืนดินอุดมสมบูรณ์ น้ำบริบูรณ์ เอื้อให้เหล่าพืชพันธุ์เจริญเติบโตอย่างดี หากเราลองฉุกคิดประยุกต์สิ่งรอบตัวที่แลดูเรียบง่ายเหล่านี้มากกว่าวิ่งตามเทคโนโลยีที่เรามีแต่เอาข้าวไทยไปแลก เชื่อว่าจะมีทางออกของที่อยู่อาศัยไทยที่มีอนาคต และคุณภาพราคาถูกด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมของเราเอง

อ้างอิง: Collective-evolutionHUFF Post, hemp4future