สถาปัตยกรรมต่างระดับตอบรับพื้นที่ชุมชนกับ ร.ร. Kumon ในเกียวโต

โรงเรียนที่เด็กอยากเรียนเป็นอย่างไร? คำถามนี้ถูกตั้งเสมอกับสถาปนิกผู้ค้นหารูปแบบของสถาปัตยกรรมประเภทโรงเรียน เพราะโรงเรียนหลายครั้งก็จัดเป็นยาขมให้กับเด็ก เพราะเดิมๆ นั้นมันแลดูเครียดไม่น่าสนุกเอาซะเลยเมื่อต้องเข้ามาเรียนประจำ แต่หากลองปรับมุมมองใหม่ในการออกแบบ โรงเรียนก็จะน่าสนใจขึ้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ อย่างโรงเรียนคุมอง ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่กระจายตัวไปในหลายชุมชน โดยอาศัยพื้นที่ไม่มากนักของอาคารเดิมในชุมชนเข้าไปทำกิจการ แต่โรงเรียนคุมองรูปทรงเรียบง่ายหลังสีดำดูแปลกตาที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น มีความธรรมดาที่พิเศษด้วยการออกแบบในรายละเอียดจากสถาปนิก HAP+

HAP+ นำเสนอสถาปัตยกรรมให้เป็นการเชื่อมตัวสถาปัตยกรรมเองกับชุมชนเมือง ด้วยการเชื่อมระดับภายนอก จากที่ตั้งซึ่งมีสองระดับคือระดับถนนซึ่งสูงกว่าระดับด้านที่ตั้งโรงเรียนกว่า 2.40 เมตร จากระดับที่ต่างกันมากนี้สถาปนิกได้จัดแจงเรียงร้อยเมืองด้วยพื้นที่ภายในโรงเรียนให้เชื่อมต่อกันทั้งสองระดับ โดยให้สถาปัตยกรรมเป็นตัวกลางลดความกระด้างของสองพื้นที่เสีย และให้การเชื่อมไหลเข้ามายังภายในด้วยการเลือกใช้วัสดุทำโต๊ะเรียนในชั้นบนด้วยกระจกใสให้เพิ่มการเชื่อมต่อด้วยสายตา ส่งผลให้กิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตัวเองของนักเรียนมีความเชื่อมโยงกันเกิดขึ้นมากกว่าที่จะใช้วัสดุทึบขาดความเชื่อมโยงแต่ละชั้นในแบบเดิม ส่งผลให้พื้นที่แต่ละส่วนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้น

คำถามต่อโรงเรียนในศตวรรษนี้จะเป็นอย่างไร คงเป็นคำตอบที่เราจะพบมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความหลากหลายกว่าศตวรรษที่แล้วมาแน่นอน ด้วยสิ่งง่ายๆ ที่เรียกว่า ’กระบวนการออกแบบ’ ที่ดีนั่นเอง

อ้างอิง: ArchitecturalReview, HAP+, Chainroro Pinterest