จากเศษซากพายุถล่มสู่บ้านต้นไม้ในฝันวัยเยาว์และอยู่อาศัยได้จริง

การให้คุณค่าความงามแบบวาบิซาบิในวัฒนธรรมญี่ปุ่น คือการให้คุณค่ากับความงามที่ผ่านกาลเวลา ผ่านความคร่ำครึและคราบหยาบจากฝีมือที่ดูเหมือนไม่ประณีต แต่ในตำหนิเหล่านั้นมันคือความไม่สมบูรณ์ เช่นคุณค่าของถ้วยชาที่ดูตะปุ่มตะป่ำไม่สม่ำเสมอ ปากถ้วยชายิ่งบางยิ่งมีคุณค่า หากมีตำหนิมันก็คือความงามอันทรงคุณค่า เพราะในความไม่เรียบร้อยสมบูรณ์นั้นมันถูกปั้นอย่างมีเอกลักษณ์ด้วยอัตลักษณ์ของศิลปินเอง

ไม้เก่าก็เช่นกัน ผิวของมันถูกบันทึกไว้ด้วยกาลเวลา มีคราบซาบิสลักไว้รายรอบ เราอาจจะเห็นบ้านไม้เก่าที่ถูกทิ้งร้างไว้ แต่ผิวของมันบรรจุเรื่องราวจากอดีตที่อาจจะขมขื่น แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นอดีตที่เราต้องเรียนรู้ เพื่อก้าวไปข้างหน้าเช่นกัน ในกรณีเมื่อโจทย์ต้องเจอปัญหาอย่าง Lynne Knowlton นักออกแบบชาวแคนาดาที่ต้องใช้วัสดุไม้เก่าจากอุบัติเหตุมหาพายุที่แคนาดา อุบัติการณ์มหาพายุคราวนั้นพังไปทั้งโรงนา บ้านเรือนในละแวกนั้นเสียหายจนเหลือเป็นแค่เศษวัสดุ แต่เมื่อปัญหามีไว้แก้ไข Knowlton จึงได้นำมันกลับมาชุบชีวิตอีกครั้ง ด้วยการปรุงเรื่องราวใหม่จากความเสียหายครั้งนั้นเป็นบ้านต้นไม้ที่มีความงามจากคราบกาลเวลาและความดิบ ทุกส่วนทุกองค์ประกอบในบ้านต้นไม้หลังใหม่เริ่มต้นจากของเก่าทั้งสิ้น ทั้งโรงนาที่เคยราบพนาสูญ เคานเตอร์ครัวจากบ้านไม้เก่า เตาอบไม้จากบ้านเก่า อ่างล้างจานจากเพื่อนบ้าน เรียกได้ว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าจริงๆ

ทุกปัญหาที่เราเจอ ถ้าคนอ่อนแอจะร้องร่ำไห้ขอความช่วยเหลือและสิ้นหวัง หากเรามีสติและมีทัศนคติบวก เราจะสามารถพลิกวิกฤตสู่การออกแบบสิ่งใหม่ๆ จากปัญหาที่เจอตรงหน้าได้เสมอ ขอแค่ใจสู้เท่านั้น!!

อ้างอิง : inhabitat, Small House Bliss, Lynne Knowlton