สะพานคมนาคมครบวงจร จัดระเบียบสองเมืองให้เป็นหนึ่งเดียว

การออกแบบเมืองให้น่าอยู่เป็นเรื่องสำคัญมาก ดังที่เราจะเห็นการเปรียบเทียบได้จากเมืองที่ถูกออกแบบมาแล้วว่ามีการใช้สอยที่สะดวกสบาย ประหยัดพลังงานกว่ามากมายในแง่ของการคมนาคมที่ทรงประสิทธิภาพ กับเมืองที่ถูกสร้างตามยถากรรมโดยปราศจากการออกแบบที่ดี จนเกิดปัญหาภายหลังทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน มากด้วยมลภาวะ รถติดเป็นบ้าเป็นหลังอย่างที่เราต้องเผชิญอยู่เช่นในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ ความใส่ใจในการออกแบบเมือง นอกจากการวางแผนการใช้สอยแล้ว ยังรวมไปถึงความใส่ใจในการออกแบบสาธารณูปการอย่าง ’สะพาน’ ด้วยเช่นกัน

ในแดนดินถิ่นแอฟริกาอย่างประเทศโมร็อคโค ก็มีปัญหาความแออัดจอแจของเมืองเช่นกัน แต่เมื่อการออกแบบคือการแก้ปัญหา โจทย์จึงมาถึงมือของสถาปนิก Marc Mimram Architecture สถาปนิกจากปารีส จึงเสนอการแก้ปัญหาของเมืองไปพร้อมกับสร้างพื้นที่ของสังคมร่วมกัน พวกเขาได้ออกแบบสะพานฮัซซัน 2 ข้ามแม่น้ำ Bouregreg ซึ่งจุดน่าสนใจของสะพานนี้คือ ความต้องการจะแก้ไขปัญหาความวุ่นวายของเมืองที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำ แต่เมื่อความวุ่นวายสามารถถูกจัดระเบียบด้วยเส้นทางสัญจรที่มากมายไปด้วยการรองรับของรถยนต์ รถราง ทางรถจักรยาน และทางคนเดิน สถาปนิกจึงผนวกเส้นทางเหล่านี้เข้าด้วยกันให้น่าใช้งานยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเมือง เขาจึงออกแบบให้พื้นที่ใต้สะพานเกิดตลาด สวนพักผ่อน ซึ่งเอื้อต่อภูมิทัศน์บริเวณใกล้สะพานนี้มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 คือหอคอยฮัซซัน ที่ถูกผนวกเข้ากับสะพานคอนกรีตสมัยใหม่แห่งนี้อย่างเนียนๆ ยิ่งการออกแบบโครงสร้างของสะพานที่ใช้การรีดคอนกรีตให้โค้งบางเรียบ ยิ่งทำให้สะพานแลดูเป็นประติมากรรมคอนกรีตไปอีก

หากเราลองพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นดีๆ แล้ว ทางแก้ไขภาพลักษณ์ของเมือง ก็คือการคืนให้กับชุมชนเมืองซึ่งไม่ต้องจบด้วยการออกแบบ ’อะไรก็ได้’ จนเป็นทัศนอุจาดที่ทำด้วยคอนกรีตยักษ์ก็เป็นได้

อ้างอิง: AKDN, The Star Online