นิทรรศการ ‘ประเทศไทยที่รักษ์’ (ส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Festival 2010 วันที่ 20-30 พฤษจิกายน 2553) ถือเป็นงานแรกที่มาพร้อมกับการก่อตั้งกลุ่ม Design for Disasters ในเวลาที่ประจวบกับความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงถึงชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อที่จะก้าวผ่านความเจ็บปวดจากผลพวงนั้น กลุ่ม Design for Disasters จึงเลือกเก็บความทรงจำจากโรงหนังสยามที่ถูกเผามาใช้เป็นสื่อ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นตัวแทนแห่งศิลปะแขนงหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้ตัวคนเมือง
เศษซากต่างๆ ที่ยังหลงเหลือหรือหลุดรอดจากไฟ กลายมาเป็นงานศิลปะหลากสื่อ ตั้งแต่จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย บทกวี ไปจนถึงละครร่วมสมัย ด้วยการตอบรับจากศิลปินและดีไซเนอร์เกือบทุกแขนงมาร่วมถ่ายทอดความรู้สึกดีๆ จากความทรงจำของโรงหนังสยาม ซึ่ง ณ ที่นี้ได้ถูกสื่อถึง ‘สยาม’ หรือ ‘ประเทศไทย’ สิ่งปรักหักพังจึงกลายมาเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า แม้ผลงานในนิทรรศการนี้จะเป็นศิลปะแนวนามธรรม ซึ่งต้องอาศัยการตีความส่วนตัว และอาจเข้าไม่ถึงคนหมู่มาก แต่โดยภาพรวมแล้ว การเปลี่ยนมูลค่าด้วยศิลปะและการออกแบบ ก็สามารถส่งสารได้ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้วว่า หากเราก้าวข้ามเศษซากแห่งความรุนแรง แล้วมองไปข้างหน้า ปัญหาอื่นๆ รายล้อมเรายังรอให้แก้ อีกทั้งความทรงจำที่งดงามก็ยังสามารถสร้างอนาคตที่สดใสได้เสมอ อยู่ที่มุมมองของคนไทยเองนั่นแหละ
[youtube url=”http://youtu.be/cbVlrFv3I8g” width=”600″ height=”480″]
อ้างอิง : DesignForDisasters