Junk Art…เปลี่ยนแหล่งเสื่อมโทรมให้เป็นแหล่งศิลปะสุดเจ๋ง

ถ้าถนนหรือซอยที่คุณเติบโตและวิ่งเล่นมาตั้งแต่เล็กเปลี่ยนกลายสภาพไปเป็นแหล่งเสื่อมโทรม ที่ใครจะเดินผ่านก็ต้องคอยระแวงว่าจะโดนฉุดหรือเจอปล้นไหม? แม้กระทั่งคนในชุมชนเองก็ยังไม่กล้าหัน ไปมอง เพราะ อาย!…คุณจะทำยังไง?

Heidelberg  ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเมืองดีทรอยด์ เป็นสองช่วงถนนของชุมชนซึ่งติดอยู่กับย่านพักอาศัยของคนผิวดำชาวอเมริกันและแอฟริกัน หลังเกิดจราจลในปี 1967 ถนนสองดังกล่าวของ Heidelberg ที่เคยมีผู้คนอาศัยอยู่ก็ถูกปล่อยทิ้งร้างเหลือแต่ร่องรอยเพลิงไหม้จากช่วงจราจล ข้าวของเครื่องใช้ก็ถูกปล่อยทิ้งไว้กระจัดกระจาย ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ซึ่งขยะเหล่านั้นมีตั้งแต่ชิ้นเล็กไปจนชิ้นใหญ่อย่างซากรถและซากบ้านที่ไม่มีใครอยากได้! จนในปี 1986 หลังจากไปทำหน้าที่เป็นทหารในกองทัพอยู่นานหลายปี Tyree Guyton ศิลปินท้องถิ่นผู้เติบโตมาในย่านนี้ก็กลับมาเยี่ยมบ้าน สิ่งที่เขาเจออยู่ตรงหน้าไม่ใช่ชุมชนที่เคยรู้จัก แต่มันคือความรกร้างที่รอวันตายสนิทไม่เหลือซาก! ด้วยจิตสำนึกบวกกับศักยภาพทางด้านศิลปะของเขา ด้วยการสนับสนุนจากคุณปู่และภรรยา รวมไปถึงความร่วมมือของเด็กๆ ในชุมชน Guyton จึงได้เริ่ม Heidelberg Project ขึ้นกับศิลปะเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเขาหวังจะให้ที่นี่เป็นหนึ่งตัวอย่างของการปลุกให้คนได้ฉุกคิดและหันกลับมามองว่า ‘มีพื้นที่อีกมากมายขนาดไหนในดีทรอย์ที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแล’

เจตนาของการเริ่มโปรเจ็กต์ศิลปะนี้ก็เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของสมาชิกชุมชนให้หันกลับมามองท้องถิ่นของตัวเองแบบเต็มตาด้วยความภูมิใจอีกครั้ง Guyton เชื่อว่า “ศิลปะของผมเป็นเหมือนยารักษาชุมชน แต่เราจะไม่มีวันรักษาเมืองหรือชุมชนได้ ถ้าความคิดของคนในชุมชนยังไม่เปลี่ยน” สิ่งที่ Guyton ทำคือ ในทุกๆ วัน เขาและเด็กๆ จะพากันวาดรูปและหยิบชิ้นขยะมาสร้างเป็น junk art นำไปจัดวางหรือตอกติดลงบนตัวบ้านแต่ละหลังตามคอนเซ็ปต์ที่พวกเขาช่วยกันคิด จนกลายเป็นงานอินสตอเลชั่นชิ้นใหญ่ขึ้นมา ซึ่งระหว่างการเดินทางของโปรเจ็กต์นี้ Guyton ต้องเจอปัญหาหนักถึงสองครั้งกับแผนพัฒนาของเมืองดีทรอยท์ในปี 91 และปี 99 ที่บ้านจำนวนหนึ่งซึ่งได้ทำการอินสตอเลชั่นไว้แล้ว มีอันต้องถูกรื้อออกตามคำสั่งของรัฐ แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขาและคนในชุมชนหมดหวังแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ‘ยิ่งโดนรื้อ พวกเขาจะยิ่งสร้างงานเพิ่ม!’

โดยเป้าหมายของเขาคือ การพัฒนาพื้นที่ชุมชนขนาดสองช่วงถนนให้กลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนทางศิลปะสุดเจ๋ง! เปิดโอกาสให้ศิลปินกลุ่มอื่นๆ ได้แวะเวียนเข้ามาสร้างงาน ทั้งคนภายนอกเองก็สามารถซื้อบัตรเข้ามาชมได้ โดยรายได้จากการขายบัตรจะถูกนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงานของโปรเจ็กต์ ปัจจุบันศาลได้ตัดสินให้สองช่วงถนนของ Heidelberg กลายเป็นเขตพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งประกอบไปด้วย Recycled Art Installation จำนวน 22 ชิ้นใหญ่ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาชมแล้วกว่าสองแสนคนต่อปี  ในปี 2008 Heidelberg ยังถูกเลือกให้เป็น Venice Architecture Biennale ของอเมริกาด้วย ส่วน Guyton เองได้รับเชิญไปบรรยายและทำเวิร์คช็อปศิลปะให้กับกลุ่มนักศึกษาและองค์กรต่างๆ ในหลายๆ เมือง โดยในปี 2010 เขาได้รับ Community Leadership Award จาก Wayne State University ในฐานะที่ Heidelberg Project คือองค์กรอิสระที่ต้องการยกสถานะและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนด้วยศิลปะ

…แล้วกับพื้นที่เสื่อมโทรมในเมืองของคุณล่ะ คุณจะนั่งวิจารณ์และค่อยๆ ดูมันตายไป หรือจะลองลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างไหม ในวิธีการที่คนตัวเล็กๆ อย่างคุณถนัด

[vimeo url=”http://vimeo.com/15680508″ width=”600″ height=”338″]
[youtube url=”http://youtu.be/E6w6WGokjTU” width=”600″ height=”338″]

อ้างอิง : The Heidelberg Project, CultCase