Canary Wharf พลิกอู่ต่อเรือสร้างเมืองเศรษฐกิจเชื่อมระบบขนส่งมวลชน

11

นอกจากอู่ต่อเรือ Titanic Quarter ที่ถูกพลิกเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในกรุงเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือที่ทาง CreativeMOVE ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ วันนี้ขอนำอีกหนึ่งโครงการจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษที่พลิกท่าเรือและอู่ต่อเรือที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่กับโครงการ Canary Wharf

อู่ต่อเรือแห่งนี้ได้ถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารเก่าถูกทำลายจนแทบไม่เหลือซาก พร้อมๆ กับอุตสาหกรรมการต่อเรือขนาดใหญ่ที่เริ่มถดถอยจนถูกปิดตัวไปในปี ค.ศ.1980 การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังคลังสินค้าและอุตสาหกรรมท้องถิ่นรอบๆ พื้นที่ที่จำเป็นต้องปิดตัวตามไป ปล่อยให้พื้นที่ที่เคยรุ่งเรืองกลับต้องซบเซาอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้โครงการ Canary Wharf จึงกำเนิดขึ้นเพื่อปลุกพื้นที่ที่รุ่งเรืองให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งโดย ไมเคิล เฮเซลไทน์ เลขาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของอดีตนายกฯ หญิงเหล็กอังกฤษ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ เจ้าของแนวคิดโครงการพัฒนาพื้นที่อู่ต่อเรือ The Docklands Development Corporate ที่มองเห็นถึงศักยภาพของพื้นที่

ในปี ค.ศ.1990 อาคาร One Canada Square ตึกระฟ้าขนาดความสูงที่ 244 เมตรบนพื้นที่อู่ต่อเรือได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์กลางด้านการเงินแห่งใหม่ทางด้านทิศตะวันออกของกรุงลอนดอน พร้อมอาคารสำนักงานที่รองรับธุรกิจขนาดใหญ่และแหล่งช้อปปิ้ง ปัจจุบันมีประชากรทำงานอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ประมาณ 1 แสนคน พลิกพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจแห่งใหม่ สิ่งสำคัญที่ทำให้พื้นที่ Canary Wharf ประสบความสำเร็จคือการสร้างระบบขนส่งมวลชนที่สามารถรองรับผู้คนจำนวนมากในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งมวลชนทางราง ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน Canary Wharf Tube Station ที่รองรับผู้ใช้บริการเกือบแสนคนในช่วงวันทำงานต่อวัน สถานีรถไฟ Canary Wharf DLR (Docklands Light Railway) Station, ระบบขนส่งทางบกอย่างรถโดยสารประจำทาง และระบบขนส่งทางน้ำผ่านเรือโดยสารที่เชื่อมต่อใจกลางกรุงลอนดอน

การฟื้นฟูเมืองจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การสร้างเขตเศรษฐกิจแห่งใหม่ที่มาพร้อมกับอาคารสูง ที่พักอาศัย หรือแหล่งช้อปปิ้งเท่านั้น แต่จำเป็นต้องสร้างระบบขนส่งมวลชนเพื่อรองรับปริมาณผู้คนที่เข้ามาภายในพื้นที่ด้วย ทำให้ผมนึกถึงกรุงเทพมหานครที่ดูเหมือนจะมีแต่อาคารสูงเติบโตเบียดเสียดยัดเยียด แต่ยังขาดการวางแผนการเคลื่อนย้ายคนจำนวนมากในระยะเวลาสั้น จึงไม่หน้าแปลกใจว่าถนนหลายสายในกรุงเทพฯ เปลี่ยนเป็นที่จอดรถขนาดใหญ่ในชั่วโมงเร่งด่วน ได้แต่หวังว่าเมื่อระบบขนส่งมวลชนทางรางสร้างเสร็จ ชีวิตดีๆ ของคนกรุงเทพฯ จะกลับมา …หรือไม่?

Canary-Wharf-10Canary-Wharf-6 Canary-Wharf-7 Canary-Wharf-1 Canary-Wharf-3 Canary-Wharf-4 Canary-Wharf-5 Canary-Wharf-8 Canary-Wharf-9 Canary-Wharf-11 Canary-Wharf-12

อ้างอิง : uddc, Canary Wharf, london/Canary Wharf, The Guardian, London docklands, Wikipedia, wikipedia/Canary Wharf DLR station, wikimedia/File:Canary_Wharf_Tube_Station, Canary Wharf Group