ตอนแรกเริ่มนั้น โครงการ Hole In the Wall เป็นเพียงการทดลองด้านพฤติกรรมศาสตร์ที่ Sugata Mitra นักวิจัยชาวอินเดียคิดค้นขึ้นมาเพื่อศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก เขาอยากรู้ว่าการเรียนรู้ทักษะทางคอมพิวเตอร์นั้นจำเป็นต้องมีการเรียนการสอนจริงจังหรือไม่ เด็กสามารถเรียนรู้เองได้รึเปล่า
จากคำถามข้างต้น เขาจัดการเอาคอมพิวเตอร์ไปตั้งไว้ตามซอกหลืบอาคารในพื้นที่ห่างไกลของอินเดีย (โดยเฉพาะในย่านชุมชนแออัด) ให้คนทั่วไปรวมถึงเด็กๆ ได้ใช้กันอย่างเสรี แบบไม่มีข้อแม้ ซึ่งเขาก็พบว่าในขณะที่ผู้ใหญ่รีๆ รอๆ ไม่กล้ามาลองใช้เพราะกลัวโชว์โง่ เด็กๆ ที่แทบไม่มีโอกาสเข้าเรียนกลับมาต่อแถวลองใช้คอมพิวเตอร์กันอย่างสนุกสนาน และแม้ส่วนใหญ่จะไม่รู้ภาษาอังกฤษ เด็กๆ ก็สามารถทำความเข้าใจกับคำสั่งและวิธีการใช้คอมพิวเตอร์ได้ง่ายๆ ด้วยตัวของพวกเขาเอง แบบไม่ต้องมีใครมาสอน
ปัจจุบัน โครงการ Hole In the Wall กลายเป็นโครงการระดับโลกที่ขยายผลไปยังประเทศอื่นๆ มากมาย ตั้งแต่กัมพูชา ภูฏาน และอัฟริกาใต้ จากคอมพิวเตอร์ธรรมดา ทางทีมงานได้เปลี่ยนรูปแบบของคอมพิวเตอร์ให้ดูสดใส (ด้วยสีแดงและเหลือง) ดึงดูดผู้ใช้มากยิ่งขึ้น ผลที่ออกมานั้นก็นับว่าน่าพึงพอใจเพราะสอดรับกับสมมติฐานของ Mitra เป็นอย่างดี ว่าเด็กนั้นสามารถสอนตัวเอง (หรือสอนกันเอง) ได้ในบางเรื่อง ซึ่งการค้นพบนี้นับว่าสั่นสะเทือนวงการการศึกษาแบบดั้งเดิมได้ไม่น้อย แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ข้อดีของการค้นพบนี้ คือ เราได้รู้ว่าหากอยากให้เยาวชนมีการศึกษาจริง การสร้างโรงเรียนเพิ่มอาจจะไม่ใช่ทางเลือกสุดท้าย ยังมีวิธีอื่นๆ อีกมากมายที่ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน และ Hole in the Wall ก็นับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
ด้วยไอเดียง่ายๆ แต่สร้างความเข้าใจได้เป็นอย่างนี้ ล่าสุดนี้ Sugata Mitra ก็เพิ่งจะได้รับรางวัล TED Prize ประจำปี 2013 ไปหมาดๆ ซึ่งเขากล่าวว่าในชีวิตนี้เขาไม่หวังอะไรมาก แค่อยากจะสร้างโรงเรียนในม่านเมฆ ที่ซึ่งเด็กๆ เรียนรู้ได้จากกันและกันเท่านั้น
ไอเดียดีแถมใจดีอีก ได้ใจไปเลยเต็มๆ
อ้างอิง: Hole-in-the-Wall