ผ้าทอเป็นมากกว่าเรื่องของเครื่องนุ่งห่ม มันคืออัตลักษณ์ คือการส่งต่อในวัฒนธรรมและชีวิต สมัยก่อนชาวบ้านบางหมู่บ้านใช้วิธีคลอดลูกกันตามธรรมชาติ เวลาจะคลอดขึ้นมาที ผู้เป็นแม่ก็ต้องเตรียมนุ่งซิ่นที่เลือกมาแล้วอย่างดีว่าจะใช้สำหรับใส่ไปคลอด จนหลังคลอดแล้ว ซิ่นนั้นก็จะถูกนำมาทำความสะอาดเพื่อส่งต่อความทรงจำเป็นมรดกทางใจให้กับลูกชายในวันที่พวกเขาเติบโต หรือแม้แต่ชายชาติทหารในสมัยอดีตที่จะออกไปรบเองก็จะเตรียมติดตีนซิ่นของแม่ไปกับตัวด้วยเพราะถือเคล็ดในความแคล้วคลาดปลอดภัย
จะเห็นได้ว่าเรื่องของผ้าทอนั้นไม่ใช่เรื่องของกระแสนิยมแต่มันคือความผูกพันในวิถี เริ่มจากผืนแรกของทารกน้อยลืมตาดูโลกที่แม่เตรียมทอไว้ให้สำหรับเป็นผ้าอ้อม ผืนที่สองเป็นการทอใส่สำหรับวันแต่งงาน ส่วนผืนสุดท้ายทอเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันตายที่อย่างไรเสียก็ไม่มีใครหนีพ้น และด้วยความสำคัญของผ้าทอที่ถูกส่งต่อมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้เอง ในวันที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. โดยการนำของดร.พรสุข จงประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยวได้ดำเนินการพัฒนากิจการเพื่อสังคม โดยเลือกชุมชนทอผ้าจังหวัดน่านขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอาชีพสู่รูปแบบที่ยั่งยืน ทั้งในเรื่องของการกระจายรายได้ การบริหารจัดการกลุ่มและการส่งต่อภูมิปัญญาของชาติให้กับเยาวชนรุ่นหลังได้สืบสานต่อ โดยจุดประสงค์การทำงานของ อพท. นั้น ไม่ใช่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพียงเพื่ออยากให้นักท่องเที่ยวมีความสุขแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ทว่าชาวบ้านหรือชุมชนเองก็ต้องมีความสุขด้วย
สิ่งสำคัญที่จะทำให้กิจการเพื่อสังคมในทุกชุมชนสำเร็จได้คือ ชุมชนนั้นๆ จะต้องเข้าใจและรู้ปัญหาในข้อดีข้อด้อยของตัวเองอย่างแท้จริงให้ได้เสียก่อน และต้องรู้ว่าเอกลักษณ์ใดในคุณค่าทางวัฒนธรรมของเราที่มีความพิเศษหรือแตกต่างจากคนอื่น ดังนั้น อพท.จึงพากลุ่มแม่ๆ ทอผ้าจังหวัดน่านไปศึกษาดูงานกิจการเพื่อสังคมรูปแบบต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย ได้แก่ กลุ่มสตรีทอผ้าศรีดอนชัย และโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้การดูแลของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งแม่ๆ ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคม ซาบซึ้งต่อวิถีการเติบโตของกลุ่มทอผ้าเหล่านี้ และเกิดแรงบันดาลใจในการกลับมาพัฒนากลุ่มทอผ้าของตนเองให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ อพท. ยังส่งเสริมศักยภาพชุมชนแบบครบกระบวนการเพื่อให้มั่นใจว่าการเข้ามาสนับสนุนชุมชนครั้งนี้จะไม่ใช่การช่วยเหลือเพียงแค่ระยะสั้น แต่ชุมชนทอผ้าชาวน่านจะต้องพึ่งพาตัวเอง ยืนบนแขนขาและภูมิปัญญาของตัวเองให้ได้อย่างยั่งยืน อพท. จึงเชิญอาจารย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำทักษะเพิ่มเติมให้กับแม่ๆ ทั้งในเรื่องของเทคนิคการทอ การเลือกใช้สี การออกแบบลาย และที่ขาดไม่ได้เลยคือการร่วมมือกับบริษัทเอกชนและหน่วยงานราชการเพื่อพัฒนาช่องทางการตลาดและการแปรรูปสินค้าให้มีความทันสมัยมากขึ้นตามรูปแบบทางการตลาดและกระแสนิยมในงานหัตถกรรมของโลกที่เปลี่ยนไป
กิจการเพื่อสังคมไม่ใช่ธุรกิจที่แสวงหาในเรื่องของกำไร แต่เป็นธุรกิจที่นอกจากจะทำเพื่อเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดได้แล้วยังต้องเผื่อแผ่ไปยังสมาชิกทั้งชุมชน สังคมและประเทศชาติด้วย เพราะการช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกันนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ที่ยากกว่าคือจะช่วยอย่างไรให้พวกเขาสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง