น่านใต้ฟ้าตามรอยสมเด็จย่ายกระดับผ้าทอไทย

หากต้องการประสบความสำเร็จก็ต้องศึกษาจากต้นแบบที่ประสบความสำเร็จแล้ว เมื่อแม่ๆ กลุ่มทอผ้าจังหวัดน่าน อยากก้าวเดินไปไกลกว่าวิสาหกิจชุมชนที่เป็นอยู่ ไปสู่คำว่า กิจการเพื่อสังคม ที่ดูจะมีความท้าทายกว่าธุรกิจอื่นทั่วไปเพราะต้องรักษาสมดุลระหว่างการแก้ไขปัญหาสังคมและการหารายได้เลี้ยงตัวเองในเวลาเดียวกัน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จึงพาแม่ๆ เดินทางขึ้นเหนือไปสุดแดนประเทศไทย เพื่อทำความรู้จักกับโครงการที่อยู่ในใจของคนไทยทั้งชาติ “โครงการพัฒนาดอยตุงฯ”

ในวันที่สมเด็จย่าตัดสินพระทัยว่า ‘ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง’ ขณะที่พระชนมายุ 88 พรรษา หากต้องทดลองทุกอย่างใหม่ด้วยพระองค์เองคงใช้เวลาเนิ่นนาน เช่นนั้นแล้วใครล่ะ ที่จะเป็นต้นแบบให้กับพระองค์ท่านในเรื่องนี้ได้ดีที่สุด สมเด็จย่าจึงตัดสินพระทัยเรียนรู้วิธีการของในหลวงรัชกาลที่ 9  โดยเดินทางไปศึกษาด้วยพระองค์เองที่ศูนย์การศึกษาชัยพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และส่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ไปศึกษาโครงการหลวงบนดอยอ่างขาง รวมถึงส่งราชเลขานุการในพระองค์ไปยังสวนจิตรลดาเพื่อศึกษาวิธีการรวมกลุ่ม ต่อยอด และแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรที่มีอยู่ พระองค์ทรงศึกษางานด้วยพระองค์เองเพราะทรงตระหนักดีว่าการพัฒนาที่ดีต้องยึดคนเป็นศูนย์กลาง

‘ช่วยเขาให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้’ พระราชดำรัสของสมเด็จย่า

เมื่อครั้งสมเด็จย่าเสด็จฯ มาดอยตุงในช่วงแรก พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการปลูกป่าและไม่ลืมที่จะปลูกคนไปพร้อมๆ กัน ชาวบ้าน 6 ชนเผ่าในสมัยนั้น ทำกินจากการทำไร่เลื่อนลอย ผลผลิตข้าวและข้าวโพดพออยู่ได้เพียงประมาณแค่หกเดือน ส่วนหกเดือนที่เหลือก็ต้องปลูกฝิ่นเพื่อขายให้กับกองกำลังของขุนส่าและพ่อค้าคนกลางอื่นๆ เนื่องจากอาณาเขตของดอยตุงนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดงของสามเหลี่ยมทองคำ จนกระทั่งเมื่อโครงการเริ่มดำเนินงานจึงมีการสนับสนุนอาชีพให้กับชาวบ้านในการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างแมคคาเดเมียและกาแฟอาราบิก้า โดยมีโรงงานกาแฟรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านมาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้สมเด็จย่ายังทรงสร้างงานหัตถกรรมให้กับแม่บ้านชาวเขาในพื้นที่ โดยในช่วงเริ่มต้นของกลุ่มทอผ้า มีชาวบ้านมารวมตัวกันทอผ้าเพียงสิบกว่าคนเท่านั้น ทางโครงการได้จัดผู้เชี่ยวชาญมาช่วยให้ความรู้เพิ่มเติม จนถึงวันนี้ศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือ มีคนงานทอผ้ารวมทั้งหมดร้อยกว่าชีวิต แถมมีดีไซน์เนอร์ประจำและดีไซน์เนอร์จากต่างประเทศหมุนเวียนเข้ามาช่วยออกแบบให้  นอกจากได้ ‘โอกาส’ แล้ว ตัวชาวบ้านเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะ ‘ต่อยอดโอกาส’อยู่เสมอ เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อในแต่ละฤดูกาล อย่างกี่ทอผ้าในศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือ ผ่านวิวัฒนาการเพื่อยกระดับคุณภาพผ้าทอมือมาสามรุ่นแล้ว นั่นหมายความว่าผู้ทอเองก็ได้ปรับตัวอยู่เสมอที่จะเรียนรู้การใช้งานของกี่แต่ละประเภท รวมไปถึงระดับความยากของเทคนิคการทำลายผ้าใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไป

คุณรู้ไหมว่าสินค้าทำมือบางประเภทจากแบรนด์ชั้นนำอย่าง IKEA ผลิตจากโรงงานดอยตุงของเราเองนี่ละ ไม่ว่าสินค้าเหล่านั้นจะถูกประทับชื่อแบรนด์ไว้ว่าอะไร หรือผลงานผ้าทอเหล่านี้จะไปอยู่ที่ใดของโลก แต่เอกลักษณ์ในคุณภาพจากงานทำมือของคนไทยไม่เคยหายไปไหน เพราะสูตรสำเร็จในการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ คืออย่าให้ใครซื้อเพราะสงสาร แต่จงให้เขาซื้อด้วยคุณภาพ พูดง่ายๆ ว่าการแข่งขันกับใครก็ไม่เท่าการแข่งกับตัวเอง การผลิตสินค้าของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ จึงมีระบบการตรวจสอบคุณภาพในทุกขั้นตอนการผลิต ไม่ว่าจะทอผ้า ปลูกกาแฟหรือปลูกแมคคาเดเมีย การมีพัฒนาการที่ต่อเนื่องและรักษามาตรฐานในคุณภาพล้วนเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาไปสู่ความสุขของช่างฝีมือ และการมีรายได้ที่ดีขึ้น

มนุษย์ทุกคนบนโลกมีทุนชีวิตที่เหมือนกันนั่นคือทุนทางศิลปวัฒนธรรม กี่ทอผ้าของดอยตุงก็หนึ่งรูปแบบ กี่ทอผ้าของพี่น้องกลุ่มทอผ้าในจังหวัดอื่นๆ หรือแม้กระทั่งของแม่ๆ ชาวน่านเองก็อีกหนึ่งรูปแบบ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ใครจะใช้กี่ประเภทไหน  แต่สำคัญที่คนใช้กี่ จะใช้ประโยชน์จากของที่เรามีอยู่อย่างไร

ต่างปัญหา ต่างบริบท เราไม่สามารถลอกเลียนแบบวิธีการแก้ปัญหารูปแบบเดียวกับที่โครงการพัฒนาดอยตุงทำและเป็นได้ทั้งหมด แต่เราสามารถศึกษาเพื่อนำแนวทางของกิจการเพื่อสังคมระดับใหญ่นี้มาปรับใช้ให้เข้ากับวิถีของแต่ละชุมชนได้ แนวคิดนี้เองที่จุดประกายให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.โดยการนำของ ดร.พรสุข จงประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยว พาแม่ๆ กลุ่มทอผ้าจังหวัดน่านออกเดินทางศึกษาแนวทางกิจการเพื่อสังคมยังที่ต่างๆ จนกระทั่งมาถึงดอยตุงแห่งนี้ เพื่อให้แม่ๆ ได้เรียนรู้จากตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จและเข้าใจอย่างแท้จริงว่าการทำอะไรเพื่อสังคมนั้น นอกจากจะทำให้ตัวเรามีความสุขแล้ว คนในสังคม ประเทศชาติก็มีความสุขด้วย และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน เฉกเช่นที่สมเด็จย่าฯ ทรงสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้ดอยดินแดงโล่งเตียนสู่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ