ดีไซเนอร์ฝรั่งเศสจับขยะยางรถยนต์มาทำเป็นผืนผ้าดีไซน์สวย

เมื่อเมืองมาราเกชในฝรั่งเศสต้องการขจัดมลภาวะและพัฒนาเมืองไปสู่ความยั่งยืน พวกเขาก็มองหาวิธีที่จะเปลี่ยนบรรดาขยะแสนสกปรกที่กำลังจะล้นเมืองให้เป็นของมีมูลค่าน่าใช้สอย จึงร่วมมือกับ LCCE (la compagnie du commerce équitable) ผู้นำเข้าสินค้าแฟร์เทรดในฝรั่งเศส ผู้มีเครือข่ายดีไซเนอร์และเข้าใจตลาดเป็นอย่างดีมาช่วยดู และได้ซองดรีน (Sandrine Dole) ดีไซเนอร์สาวชาวฝรั่งเศสมาเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาสินค้าที่ยั่งยืนและยุติธรรมนี้

ซองดรีนตะเวนท่องทำงานออกแบบในหลายประเทศในแอฟริกา จนมาปักหลักในมาราเกช เธอถนัดออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานฝีมือท้องถิ่น และคุ้นเคยกับการทำงานด้วยวัสดุหลากชนิด เมื่อต้องมาจัดการกับยางในรถยนต์กองมหึมา ซองดรีนก็งัดเอาสารพัดวิธีมาจัดการกับวัสดุมอมๆ พวกนี้ ตั้งแต่ลองกรีดเป็นเส้นใหญ่ เส้นละเอียด ทอเป็นผืน สานเป็นตะกร้า เอามาใช้ร่วมกับงานไม้ ทดลองทอกับวัสดุอื่นๆ เพื่อให้ได้ผิวสัมผัสที่นุ่มนวลขึ้น เช่น ทอกับไหม ฝ้าย ด้ายขนสัตว์ เชือกฟาง ฯลฯ เพื่อหาวิธีสร้างสรรค์ยางในให้กลายเป็นวัสดุใหม่ที่เหมาะงาม จนในที่สุดก็มาลงตัวกับผืนเท็กซ์ไทล์หนาๆ  ซึ่งนำไปออกแบบเป็นของตกแต่งบ้านได้หลากหลาย เช่น หมอนอิง สตูล กล่องผ้าอเนกประสงค์ ไปจนถึงเบาะเก้าอี้ ดูเผินๆ ถ้าไม่ได้จับ ไม่ได้ดม ก็จะไม่รู้เลยว่าผืนผ้าสวยๆ นี้ทำมาจากยาง เธอใช้ชื่องานว่า Contrast City ที่สื่อถึงความขัดแย้งของที่มาและผลลัพธ์ ผ่านความตัดกันของเนื้อผ้า ตามความตั้งใจของซองดรีน ที่อยากจะเปลี่ยนขยะจากเมืองใหญ่ให้กลายเป็นวัสดุที่ดูไม่ออกว่าทำมาจากอะไร แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อมองอย่างใส่ใจก็จะสัมผัสได้ถึงที่มา ซึ่งสิ่งนี้จะสร้างจุดแข็งให้กับผลิตภัณฑ์เมื่อนำออกขาย ด้านการผลิต ซองดรีนเลือกใช้วิธีการทออย่างคนท้องถิ่น เพื่อให้ไม่ยุ่งยากในการผลิตซ้ำจำนวนมาก

จริงๆ แล้วดีไซเนอร์ทั้งหลายน่าจะเอาอย่างซองดรีน ที่ไม่ได้คิดเฉพาะงานดีไซน์ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่คิดไปถึงที่มาของวัสดุ การผลิต ไปจนถึงการขาย เพื่อให้สินค้าลักษณะนี้ยืนอยู่ในตลาดได้ นี่สิ ถึงจะเรียกว่ายั่งยืนจริงๆ

อ้างอิง : Sandrine Dole, Contrast City