ในสังคมเราไม่ได้มีแต่ผู้ที่ร่างกายปกติ อวัยวะครบ 32 เท่านั้น แต่ยังมีผู้ที่มีข้อจำกัดทางกาย ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าเขาเป็นผู้ด้อยโอกาส แต่่ต้องการการออกแบบที่ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงการบริการ หรือการใช้งานสิ่งต่างๆ ได้โดยสะดวก ผู้พิการทางสายตาคือหนึ่งในนั้น พวกเขาเห็นว่าเทคโนโลยีทำให้การใช้ชีวิตสะดวกมากขึ้นเช่นเดียวกับคนทั่วไป ขาดแต่เพียงว่าผู้พัฒนาเทคโนโลยีอาจไม่ได้คิดถึงกลุ่มผู้พิการเท่าที่ควร
หนุ่มน้อยอาดี้ คุชเนอร์ (Adi Kushner) ชาวอิสราเอลวัย 17 ปีซึ่งตาบอดมาแต่กำเนิด เขามีความสนใจในเทคโนโลยีสำหรับผู้พิการมาตั้งแต่ 5 ขวบ พออายุได้ 9 ขวบก็เริ่มฝึกการใช้ภาษาอังกฤษด้วยตนเอง เพราะเทคโนโลยีช่วยอ่านสำหรับคนตาบอดในตอนนั้นไม่มีภาษาฮิบรู จากนั้นก็เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีด้วยตนเอง จนเมื่ออายุได้ 12 ปี เขาก็ได้เข้าไปมีส่วนช่วยพัฒนาเทคโนโลยีช่วยการอ่านให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาดี้จึงได้ชื่อว่าเป็นหนุ่มน้อยนักพัฒนาในวงการเทคโนโลยีเพื่อคนตาบอด แต่สิ่งที่เขาต้องการทำมากที่สุด ไม่ใช่การออกแบบเทคโนโลยีสำหรับคนตาบอดโดยเฉพาะ เพราะเขายืนยันว่า คนตาบอดหรือผู้พิการใดๆ ก็ใช้สมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ แบบเดียวกับคนทั่วไป สิ่งที่เขาทำคือการกระตุ้นให้บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีคำนึงถึงผู้ใช้กลุ่มนี้ เพราะสร้างฟีเจอร์เพิ่มเติมขึ้นเท่านั้นเอง ไม่จำเป็นต้องสร้างแพลตฟอร์มเฉพาะสำหรับผู้พิการ อาดี้ได้ร่วมเข้าไปพัฒนาฟังก์ชั่น VoiceOver กับ Apple และ Google เพื่อเพิ่มการสั่งงานด้วยเสียงขึ้นมา ทำให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้แอพฯ ต่างๆ ได้เช่นเดียวกับที่ผู้อื่นใช้
ล่าสุด อาดี้ไปติดต่อกับผู้ผลิตแอพฯ Gett บริการแท็กซี่ ซึ่งจำเป็นต่อการเดินทางของผู้พิการทางสายตาอย่างมาก เขาเป็นที่ปรึกษาในการเพิ่มฟังก์ชั่น VoiceOver และสิ่งที่จำเป็นสำหรับการให้บริการสำหรับคนตาบอดเข้าไป บริษัท Gett นั้นถือเป็นอีกบริษัทที่ยินดีต้อนรับอาดี้ ในขณะที่บริษัทอีกหลายแห่งปฏิเสธเขาอย่างสุภาพ เมื่อเดือนที่แล้ว Gett จึงได้เปิดตัวแอพฯ ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นการสั่งงานด้วยเสียง ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้พิการทางสายตา และยังประกาศด้วยว่าแท็กซี่ของ Gett ทุกคันยินดีต้อนรับสุนัขนำทางด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการทำตลาดที่ทิ่มแทง Uber เจ้าตลาดเดิมอยู่พอสมควร เพราะเมื่อปลายปีที่แล้ว Uber เพิ่งถูกฟ้องร้องจากสมาคมผู้พิการทางสายตาในอเมริกาถึงกฏที่ไม่ยอมให้สุนัขนำทางขึ้นแท็กซี่ Uber การฟ้องร้องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการไกล่เกลี่ย แต่ Uber ก็พยายามอย่างหนักในการกู้คืนชื่อเสียง ซึ่งตอนนี้ Uber ได้นำ VoiceOver เข้ามาใช้ และยังเพิ่มบริการ UberAssist ซึ่งเป็นบริการพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ ผู้นั่งรถเข็น ฯลฯ ขึ้นมาแล้ว ในขณะเดียวกัน Lyft ชุมชน Car Sharing ก็ไม่น้อยหน้า เพิ่มโอกาสสำหรับคนขับที่หูหนวกอีกด้วย
อาดี้ คือตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้เกิดขึ้นแก่สังคม และเมื่อบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีพากันคำนึงถึงกลุ่มผู้ที่ต้องการการใช้งานเป็นพิเศษ สิ่งนี้ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปโดยธรรมชาติ และหากสามารถครอบคลุมไปถึงกลุ่มคนที่มากไปกว่าผู้พิการทางสายตา ความเท่าเทียมในการใช้ชีวิตก็จะเกิดขึ้นตามมาได้ในที่สุด
[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=U33jcco2ZlA” width=”600″ height=”350″]
อ้างอิง : FastCoExist