‘Jishin Itsumo’ ทักษะการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติด้วยกราฟิกเข้าใจง่าย

หลายปีที่ผ่านมา ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้คร่าชีวิตผู้คนในพื้นที่ต่างๆ ไปจำนวนไม่น้อย ตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิในปี 2004 เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.0 ริกเตอร์ในเฮติ ไล่เรียงมาจนถึงแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งแปซิฟิกโทโฮะกุในญี่ปุ่นที่ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์ขนาด 40.5 เมตร ทำลายล้างพื้นที่ในเขตมิยาโกะ อิวาเตะ และโทโฮะกุ รวมไปถึงอุทกภัยครั้งใหญ่ในเมืองไทยเมื่อปีที่แล้ว แน่นอนว่าสิ่งที่เราต้องตั้งรับคือความสูญเสียที่เกิดตามมาหลังจากเหตุการณ์เหล่านั้นจบลง แต่ในอีกฟากหนึ่งบทเรียนอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติเหล่านี้มากขึ้นด้วย หนึ่งในนั้นคือ Jishin Itsumo (จิชิน อิทสึโมะ) อีกหนึ่งโครงการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อถ่ายทอดทักษะการเรียนรู้และเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Jishin Itsumo ประกอบขึ้นจากคำสองคำ คือ jishin (แผ่นดินไหว) และ itsumo (เตรียมพร้อมอยู่เสมอ) ซึ่งมีรากฐานมาจากแนวคิดที่ว่า ‘ภัยทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยจากแผ่นดินไหว สามารถจะเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา’ ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมพร้อมและตระหนักรู้อยู่เสมอ โครงการที่ว่าเกิดขึ้นในปี 2005 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 10 ปี ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในเขต Hanshin Awaji ในญี่ปุ่น ดำเนินการโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Plus Arts ที่นำทีมโดย Hirokazu Nagata พวกเขาได้ทำการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยประสบภัยอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นจำนวน 167 คน เพื่อรับฟังและจดบันทึกคำบอกเล่า จากนั้นบทเรียนอันมีค่ายิ่งทั้งหมดถูกนำมาเรียบเรียงใหม่เพื่อถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้สำหรับการพัฒนาทักษะในการดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผ่านสื่อต่างๆ อาทิ Jishin Itsumo Note หรือบันทึกที่บรรจุความรู้อันหลากหลายของการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยสื่อสารผ่านภาพกราฟิกที่สวยงามและเข้าใจง่ายแทนการสื่อผ่านรูปภาพความเสียหายที่น่าสะพรึงกลัว ฝีมือของนักวาดภาพประกอบอย่าง Bunpei Yorifuji หรือกิจกรรม IZA! KAERU CARAVAN สันทนาการแนวใหม่เพื่อเรียนรู้และฝึกซ้อมการรับมือกับภัยพิบัติแบบต่างๆ ประกอบไปด้วยเกมการละเล่นที่เด็กๆ คนในครอบครัว และสมาชิกจากชุมชน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกันได้ ตลอดจนการประกวดงานออกแบบเพื่อรับมือภัยพิบัติ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ยามเกิดเหตุ ซึ่งรับการสนับสนุนจากองค์กรภาคเอกชนของญี่ปุ่น เช่น Tokyo Gas และ Ryohin Keikaku เป็นต้น

สิ่งที่  Jishin Itsumo หวังไว้ไม่ใช่แค่การส่งต่อข้อมูลเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ทางธรรมชาติแบบชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่พวกเขาตั้งใจให้องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นถูกส่งต่อให้คนในชุมชน โดยเฉพาะกับเด็กๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปและแทรซึมเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เพื่อที่วันหนึ่งเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น ทักษะและความรู้เหล่านั้นจะสามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืน

Jishin Itsumo Note โดย Bunpei Yorifuji

IZA! KAERU CARAVAN สันทนาการแนวใหม่เพื่อเรียนรู้และฝึกซ้อมการรับมือกับภัยพิบัติแบบต่างๆ

อ้างอิง:  JISHIN ITSUMO