‘Primo’ ของเล่นไม้สุดล้ำ ปูพื้นฐานการเขียนโปรแกรมให้เด็กปฐมวัย

ใครจะคิดว่าการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันแสนสลับซับซ้อนในโลกของผู้ใหญ่ จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเล่นและการเรียนรู้ของเด็กเล็กๆ ได้อย่างลงตัว

ขอเชิญพบกับ ‘Primo ชุดของเล่นสุดล้ำสำหรับเด็กเล็กอายุ 4-7 ปีที่มีวิธีการเล่นแบบง่ายๆ เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัย แต่นำหลักการพื้นฐานของการเขียนโปรแกรมมาใช้ ทำให้การเรียนรู้เรื่องซับซ้อนอย่าง ‘การเขียนชุดคำสั่งเพื่อควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์‘ นั้นกลายเป็น ‘ของเด็กเล่น’ ไปเลย

ชุดของเล่นนี้ประกอบด้วย 3 ชิ้นส่วนสำคัญคือ
  1. ‘คิวเบตโต้ (Cubetto)’ คือ หุ่นยนต์ทรงลูกบาศก์
  2. ‘แผงวงจร’ ที่เป็นส่วนต่อประสาน (interface)
  3. ‘กลุ่มชิ้นบล็อกไม้ 4 สี 4 รูปทรง’ ที่ใช้เป็นรหัสคำสั่ง (เดินหน้า, ซ้าย, ขวา และโปรแกรมฟังก์ชั่น)
ทั้ง 3 ชิ้นส่วนนี้ออกแบบมาให้ดูเรียบง่าย พื้นผิวสัมผัสเป็นไม้ธรรมชาติ และซ่อนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้ภายในมิดชิด

เป้าหมายของเกม คือ การ ‘ออกคำสั่ง’ ให้หุ่นยนต์คิวเบตโต้ไปยังปลายทาง (ที่กำหนดเองอย่างอิสระ อาจจะเป็นบ้านตุ๊กตา หรือวัตถุอื่นใดก็ได้) โดยหุ่นยนต์จะทำงานตามลำดับคำสั่งที่ถูกวางในแผงวงจร ซึ่งเด็กแต่ละคนก็จะ ‘เล่น’ กับคำสั่งไม่เหมือนกัน หรือเล่นครั้งใหม่ก็อาจจะใช้คำสั่งไม่เหมือนเดิม การเล่นแต่ละครั้งจึงสามารถสร้างสรรค์ ‘วิธีการเล่น’ ที่แตกต่างกันไป ไม่มีคำตอบหรือทางออกที่ตายตัว

วิธีการเล่น คือ เจ้าคิวเบตโต้เนี่ยจะเชื่อมต่อแบบไร้สายกับแผงวงจร ซึ่งแผงวงจรจะทำหน้าที่เป็นส่วนต่อประสานการออกคำสั่ง พอเราใส่ code หรือรหัสคำสั่งลงไปในแผงวงจร (ในมุมมองของเด็กก็คือการเล่นใส่บล็อกไม้ลงไปในช่องว่าง)  แล้วกดปุ่มสีแดงที่อยู่ด้านข้างเพื่อใช้งานชุดคำสั่งนั้น เราก็สามารถสั่งเจ้าคิวเบ็ตโต้ไปยังตำแหน่งที่โปรแกรมไว้ได้

ยิ่งฝึกเล่นไปเรื่อยๆ เด็กจะค่อยๆ พัฒนาทักษะการใช้คำสั่ง สามารถสร้างชุดคำสั่งได้หลากหลายรูปแบบขึ้นเรื่อยๆ ออกแบบชุดคำสั่งแบบสั้น ยาว เวียน วน หมุนไปมา สารพัดจะสั่งตามความคิดสร้างสรรค์ เกิดเป็นลูปของการเล่นที่ไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์จริงๆ และการเล่นแบบนี้จะสร้างความเคยชินกับ ‘วิธีคิดเป็นลำดับขั้นตอน’ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานเชิงตรรกะของการเขียนโปรแกรมอันจำเป็นสำหรับการเขียนโปรแกรมชั้นสูงยิ่งขึ้นต่อไป

ศักยภาพของเด็กเล็กนั้นมีมากกว่าที่เราคิด เพราะความคิดจิตใจที่ยังใสบริสุทธิ์ มีเงื่อนไขต่างๆ มาแทรกแซงความคิดน้อยอยู่ พวกเขาสามารถเรียนรู้เรื่องยากๆ ได้อย่างที่ผู้ใหญ่อาจทำไม่ได้ นึกถึงข้อเขียนจากหนังสือ  ‘รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว’  ที่บอกว่า “เด็กเล็กๆ มีความสามารถแยกแยะสิ่งต่างๆได้เกินกว่าที่พวกเราผู้ใหญ่คาดคิด…เด็กมีความสามารถจดจำรูปแบบของสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่ต้องอาศัยเหตุผล”  และ “เด็กเล็กสามารถเข้าใจเหตุผลของทฤษฎีของเซตได้อย่างง่ายดาย…” “…เมื่อเด็กหยิบไม้บล๊อกของเล่นออกมาจากกล่องที่ละชิ้น และแยกเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมและชิ้นสามเหลี่ยมก็เท่ากับเริ่มเรียน ‘เซต’ แล้ว ไม้บล็อกแต่ละอันก็เป็นสมาชิกของเซต กองของไม้สี่เหลี่ยมหรือไม้สามเหลี่ยมก็คือ ‘ซับเซต’ นี่คือเรื่องง่ายๆ และเป็นพื้นฐานของทฤษฎีเซต เด็กเล็กๆ สามารถเข้าใจทฤษฎีเซตง่ายๆ เช่นนี้ได้ดีกว่าทฤษฎียุ่งยากของเลขคณิต

เราหลีกหนีความจริงของยุคสมัยไม่ได้ว่า เด็กรุ่นใหม่เกิดมาไม่กี่ปีก็รู้จักการ ‘กดปุ่ม’ หรือ ‘สไลด์’ เพื่อใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่รอบตัวกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือทีวี เพราะว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเขาเป็นแบบนี้ เรื่องนี้หลายคนมองว่าเป็นปัญหา หลายคนมองว่าเป็นโอกาส แต่ทีมงานผู้ผลิตของเล่น Primo พวกเขามองทะลุไกลไปถึงความสำคัญของการกระตุ้นให้เกิด ‘Creator’ มากขึ้นในสังคมที่เต็มไปด้วย ‘Consumer’ เยอะแยะล้นโลก แถมยังใจกว้างเปิดโอกาสให้ ‘นักคิด’ คนอื่นสามารถนำ Primo ไปพัฒนาต่อยอดความคิดได้ไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นในแวดวงการศึกษา หรือการออกแบบ โดยเฉพาะตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ

นับว่าเป็นรูปแบบ ‘ของเล่น’ และ ‘วิธีคิด’ ที่เหมาะกับโลกที่หมุนไปเร็วเสียจนเรามัวแต่วิ่งตามให้ทัน ทั้งที่จริงแล้วเราอาจมีศักยภาพมากพอที่จะหยุดโลกและลองให้โลกวิ่งตามเราบ้าง

ขอให้ทุกคนสนุกกับ ‘การเล่น’ นะคะ 🙂

[vimeo url=”http://vimeo.com/82620072″ width=”600″ height=”340″]

 

อ้างอิง: Kick Starter