คู่มือ Tokyo Bousai พร้อมรับมือแผ่นดินไหวผ่านภัยพิบัติร้อยแปด

14

รู้งี้ ไม่วิ่งออกไปหรอก !!! รู้งี้ จะรีบหลบใต้โต๊ะ !!! รู้งี้ จะเตรียมอาหารแห้งเอาไว้

‘รู้งี้’ ของคุณอาจจะสายเกินไปถ้าภัยพิบัติทางธรรมชาติมีความรุนแรงแบบฉับพลัน ดังนั้นการเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนควรเรียนรู้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ในจุดเสี่ยงอันตราย ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุถล่ม ภูเขาไฟระเบิด คลื่นสึนามิถาถม

วันนี้ CreativeMOVE ขอนำแนวคิดดีๆ จากประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติได้อย่างดีเยี่ยม ข้อมูลงานวิจัยจาก Lloyd’s of London ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศลำดับที่ 2 ของโลกที่มีโอกาสเผชิญกับภัยธรรมชาติมากที่สุด มีการคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 30 ปีข้างหน้า เมืองโตเกียวมีโอกาสถึง 70% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุด ด้วยเหตุนี้ Tokyo Metropolitan Government จึงได้จัดทำคู่มือเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติ Tokyo Bousai แจกจ่ายไปตามบ้านกว่า 7.5 ล้านเล่ม พร้อมเวอร์ชั่นออนไลน์ที่คุณสามารถดาวน์โหลดคู่มือเก็บไว้บนสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ได้

คู่มือ Tokyo Bousai ถูกจัดพิมพ์เป็นสีเหลือง ซึ่งเป็นสีที่สังเกตได้ง่ายและชัดเจนที่สุด ภายในมีภาพประกอบพร้อมคำอธิบายที่เข้าใจง่ายโดยมีให้เลือก 2 ภาษา คือ ญี่ปุ่นและอังกฤษ พร้อมตัวมาสคอทรูปแรดแสนน่ารักกับชุดเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ คู่มือนี้ถูกแบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 ส่วนหลัก ได้แก่

  1. แบบจำลองสถานการณ์แผ่นดินไหว แสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบทั้งภายในบ้าน ที่ทำงาน และนอกบ้าน พร้อมแนะนำรูปแบบการอพยพและการปฏิบัติตนภายในศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ
  2. การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ เช่น การหมุนเวียนจัดเก็บอาหารและน้ำที่จำเป็น การศึกษาเส้นทางการอพยพ เป็นต้น
  3. ข้อมูลภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นนอกเหนือไปจากแผ่นดินไหวและวิธีการรับมือ เช่น พายุเข้า ภูเขาไฟระเบิด ฟ้าผ่า ดินถล่ม หิมะทลาย หรือแม้กระทั่งการก่อการร้าย
  4. วิธีอยู่รอดปลอดภัย เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การผายปอดกระตุ้นหัวใจ การใช้อุปกรณ์ดับไฟ การเตรียมน้ำสะอาดสำหรับดื่ม เป็นต้น
  5. ข้อเท็จจริงที่คุณจำเป็นต้องรู้จากภัยพิบัติ เช่น ลักษณะของคลื่นสึนามิ การแกว่งตัวของอาคารสูงเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ความรู้เรื่องการเกิดพายุไต้ฝุ่น เป็นต้น

คู่มือ Tokyo Bousai สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของชาวญี่ปุ่น ที่ให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมก่อนเกิดเหตุมากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้ถูกฝังอยู่ในใจตั้งแต่ก้าวแรกในชั้นเรียนวัยอนุบาล จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเราพบเห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อยบนซากปรักหักพังหลังจากเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ ประชาชนทุกคนต่างเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองพร้อมยื่นมือช่วยเหลือคนรอบข้างด้วยใจเต็มร้อย อีกหนึ่งแนวคิดดีๆ ที่น่านำมาปรับใช้กับบ้านเรา โดยเฉพาะพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม หรือแม้กระทั่งวิธีการรับมือเมื่อเกิดภัยแล้ง … จัดทำเพื่อพี่น้องชาวไทยกันเถอะครับ

Tokyo-Bousai-A Tokyo-Bousai-1 Tokyo-Bousai-2 Tokyo-Bousai-3 Tokyo-Bousai-4 Tokyo-Bousai-5 Tokyo-Bousai-6 Tokyo-Bousai-7 Tokyo-Bousai-8 Tokyo-Bousai-9 Tokyo-Bousai-10 Tokyo-Bousai-11 Tokyo-Bousai-12 Tokyo-Bousai-13 Tokyo-Bousai-14

อ้างอิง : Metro Tokyo, Tokyo Bousai in Spoon Tamago