Tube Story ผลิตภัณฑ์สุดกรีนจากไม้ไผ่ ทดแทนการใช้พลาสติก

3

ไม้ไผ่เป็นหนึ่งในวัสดุที่อยู่คู่กับมนุษย์และโลกมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมาเราจะเห็นการใช้งานวัสดุดังกล่าวในงานก่อสร้างที่พักอาศัย โครงสร้างค้ำยัน สะพาน เลยไปจนถึงบรรดาข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อาจะเพราะคุณสมบัติที่เกินตัว ทั้งหาง่ายราคาย่อมเยา มีความแข็งแรงเทียบเท่าธาตุโลหะ ทว่ามีความยืดหยุ่นสูงในเวลาเดียวกัน แถมยังเป็นไม้ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยเพราะสามารถปลูกทดแทนได้รวดเร็วกว่าไม้เนื้อแข็งที่ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี (ขณะที่ไม้ไผ่ใช้เวลาประมาณ 4 ปีสำหรับโครงสร้างขนาดใหญ่และ 2 ปีสำหรับการตกแต่งและการทำข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ) ทำให้วัสดุดังกล่าวถูกนำมาใช้ทดแทนพลาสติกและโลหะมากขึ้นในปัจจุบัน

นักออกแบบจากฝั่งยุโรป Samy Rio ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่หลงใหลในวัสดุดังกล่าวและทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ กับไม้ไผ่มาอย่างต่อเนื่องผ่านโปรเจ็กต์ Tube Story โดย Samy นำไม้ไผ่มาพัฒนาให้สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม ให้สามารถใช้งานได้จริงๆ และแสดงศักยภาพของไม้ไผ่ออกมาได้อย่างเต็มที่ในเวลาเดียวกัน เขาตั้งเป้าให้โครงการดังกล่าวนำไปสู่การใช้ไม้ไผ่เพื่อทดแทนพลาสติกและวัสดุชนิดอื่นๆ ที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

และ Samy ก็ไม่ได้ทำเล่นๆ เพราะเขาถึงกับคิดเครื่องจักรขนาดเล็กที่ช่วยในการกลึง เจาะ ผ่า เซาะร่อง และพิมพ์ลายเพื่อสร้างทั้งผิวสัมผัสที่เนียนเรียบและเป็นวัตถุตั้งต้นที่มีมาตรฐานเดียวกันสำหรับการนำไปผลิตเป็นโปรดักต่างๆ ต่อไป Samy ทดลองทำโปรโตไทป์กว่า 100 ชิ้น จนกระทั่งได้งานที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้ออกมา 2 ชิ้นด้วยกัน ได้แก่ ลำโพงบลูทูธและไดร์เป่าผมที่มี 2 แบบให้เลือก ทั้งแบบธรรมดาที่พับเก็บไม่ได้และแบบที่พักเก็บได้ โดยผลงานที่เกิดขึ้นก็ถูกคิดไว้อย่างรอบด้าน ทั้งการทำให้ไม้ไผ่สามารถผลิตแบบแยกชิ้นส่วนซึ่งทำให้ผู้ใช้ถอดประกอบและเปลี่ยนชิ้นส่วนได้หากมีการเสื่อมสภาพ อีกทั้งยังมีการคำนวณตำแหน่งการควบคุมการเปิดปิด ระบบเซ็นเซอร์ และวงจรต่างๆ ให้เหมาะสมกับไม้ไผ่ด้วยเช่นกัน

งานนี้นอกจากหน้าตาสวย เรียบ และน่าใช้ และใช้งานได้จริงๆ ความพยายามของ Samy ยังทำให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ในการใช้ไม้ไผ่มาประดิษฐ์เป็นสิ่งละอันพันละน้อยที่คาดไม่ถึง และสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คงจะเป็นแบบที่ Samy บอกเอาไว้ว่า “ถ้าเราเข้าใจสัจจะของวัสดุ รู้ว่ามันมีศักยภาพมากเพียงใด และรู้ว่ามันนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างไรแล้ว เมื่อนั้นเราก็จะรู้และควบคุมวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งการควบคุมวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ก็คือการผลิตโปรดักที่ง่ายต่อการถอดประกอบและเปลี่ยนชิ้นส่วน อันจะส่งผลให้ผู้ใช้สามารถต่ออายุไปผลิตภัณฑ์ หรือเลยไปจนถึงรีไซเคิลชิ้นส่วนเหล่านั้นสู่ธรรมชาติด้วย” ซึ่งดูจะเป็นการใช้งานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อทุกฝ่ายมากทีเดียว

samyriodesignboom11

samyriodesignboom01

samyriodesignboom02 samyriodesignboom03 samyriodesignboom05 samyriodesignboom07 samyriodesignboom08 samyriodesignboom09 samyriodesignboom10samyriodesignboom06CJYTvkzUkAAJes3

อ้างอิง: Samy Rio, MediaLight_Prod, Lothaire Hucki

บันทึก