บางคนเดินทางตลอดทั้งชีวิตก็ยังไม่สามารถหาตัวเองได้พบ ในขณะที่ใครบางคนเกิดมาก็รู้ทันทีว่าตัวเองชอบทำอะไร ‘รัตติกร วุฒิกร’ นักออกแบบของเล่นเป็นหนึ่งในผู้โชคดีที่สุดที่ได้พบกับอาชีพ นักออกแบบของเล่นที่เธอรักในทางตรงกันข้าม ‘ของเล่น’ ก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่โชคดีที่สุดที่ได้พบกับนักออกแบบท่านนี้ ผู้ที่ทำให้ ‘หนึ่งของเล่น’ ไม่ได้มีคุณค่าเพียงแค่ผู้เล่นเพียงหนึ่งคน แต่ยังส่งต่อไปถึงการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืนอีกด้วย
Q: คุณรัตติกรเรียนจบมาทางด้านไหน แล้วเริ่มต้นทำงานอะไรก่อนที่จะก้าวมาเป็นนักออกแบบของเล่น
A: จบการศึกษาจากคณะสถาปัตย์ สาขาศิลปอุตสาหกรรม พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง หลังจากจบก็เริ่มงานที่บริษัท Wonderworld โดยหน้าที่หลักคือการออกแบบของเล่น ถือเป็นความโชคดีที่ได้เริ่มงานในตำแหน่งนี้เป็นที่แรก หลังจากทำงานได้ประมาณครึ่งปี ก็ตัดสินใจลาออกเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่ในช่วงระยะเวลาที่กำลังเตรียมตัว ก็มีเพื่อนๆ ชวนไปสมัครงานที่บริษัท Plan Toy ซึ่งกลายเป็นสถานที่ที่ได้ทำงานเป็นนักออกแบบของเล่นอีกครั้ง ส่วนโครงการศึกษาต่อต่างประเทศก็ถูกเก็บเข้าลิ้นชัก เพราะได้หลงรักการออกแบบของเล่นอย่างมาก ตลอดระยะ 4 ปีที่ทำงานอยู่ที่ Plan Toy ก็หาเวลาไปลงเรียนปริญญาโทต่อที่ ABAC ในสาขา Computer Engineering จนเกือบจะจบเหลือเพียงแค่ทำวิทยานิพนธ์เพียงตัวเดียว ก็ตัดสินใจหยุดเรียน เพราะคิดว่าสาขาวิชาที่เลือกไม่ใช่สิ่งที่ต้องการอย่างสูงสุด
Q: ของเล่นที่คุณออกแบบ ไม่ได้มีเพียงแค่ความสนุกเสริมสร้างทักษะเท่านั้น แต่ยังแฝงไปด้วยการพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมด้วย คุณรัตติกรมีแนวคิดในการออกแบบอย่างไรบ้าง
A: ส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ชอบทำงานสังคมสงเคราะห์มาก หลังจากทำงานที่ Plan Toy ก็ตัดสินใจไปเพิ่มพูนความรู้เรื่องภาษาที่ประเทศอังกฤษ ณ ที่แห่งนั้นได้มีโอกาสเข้าไปช่วยสังคม เป็นอาสาสมัครให้กับทาง UNESCO โดยนำความสามารถทางด้านการออกแบบของเล่นไปพัฒนาของเล่นให้กับคนพิการ จากนั้นได้พบกับเพื่อนๆ อาสาสมัครที่ชักชวนให้เข้าโครงการ Toy Library ที่กระจายตัวไปตามชุมชนต่างๆ เลยได้มีโอกาสใช้ทักษะในการออกแบบของเล่นอีกครั้ง แต่ในคราวนี้เป็นงานออกแบบของเล่นสำหรับเด็กพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นของเล่นสำหรับผู้พิการทางสายตา หรือของเล่นสำหรับเด็กออร์ทิสติค เป็นต้น
หลังจากกลับมาจากประเทศอังกฤษ ก็คิดอยากจะเข้าไปช่วยงานสังคมสงเคราะห์ แต่ไม่ใช่งานสังคมสงเคราะห์แบบทั่วไปๆ เช่น แจกของ เลี้ยงอาหารกลางวัน ฯลฯ เพราะตัวเองอยากจะใช้ความสามารถในการออกแบบของเล่นผนวกเข้ากับงานสังคมสงเคราะห์ด้วย จึงได้ตัดสินใจเขียนโครงการนำเสนอผู้ใหญ่ใจดีที่ Plan Toy ซึ่งได้รับคำแนะนำที่ดีมาโดยตลอด แม้ว่าโครงการนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่องค์ความรู้ที่ได้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยจุดประกายให้เราเห็นโอกาสในงานออกแบบของเล่นเพื่อสังคม
ในระหว่างนั้นก็ทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับการทำงานอาสาสมัครในโครงการไทยสร้างสรรค์ 5 วันทำงานออฟฟิศ อีก 2 วันเสาร์-อาทิตย์ก็เดินทางไปขอนแก่น กว่าหนึ่งขวบปีที่ทำงานก็เริ่มรู้สึกว่าเหนื่อยมากกับการเดินทาง อีกทั้งงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นงานประจำ ทำไปทำมาผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกแบบก็มีรูปร่างหน้าตาไปทาง ‘ของเล่น’ หมด ทั้งๆ ที่โจทย์ไม่ใช่เป็นของเล่น และนั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนอีกหนึ่งครั้ง แต่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดบริษัท Club Creative บริษัทรับออกแบบของเล่น ที่ไม่จำกัดทั้งวัสดุ และวิธีการเล่น
Q: กลัวหรือไม่ กับการเปิดบริษัทฯ เป็นของตัวเอง
A: จริงๆ แล้วไม่มีความรู้เรื่องการเปิดบริษัทฯ เลย จึงโทรไปปรึกษาเพื่อน เพื่อนก็บอกให้ไปจดทะเบียน ขั้นตอนไม่ยากหรอก แล้วก็เป็นอย่างที่เพื่อนว่า เพราะการจดทะเบียนบริษัทฯ นั้นไม่ยาก แต่การบริหารบริษัทฯ นี่สิไม่เคยทำ ช่วงแรกเริ่มของการเปิดบริษัทฯ ก็มีนักออกแบบอีกท่านมาช่วยงาน โดยเริ่มต้นจากการรับงานทุกแบบ โดยไม่ได้ขีดวงไว้แค่งานออกแบบของเล่น เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในบริษัทฯ แต่ด้วยความที่ชอบออกแบบของเล่น เลยบอกกับผู้ร่วมงานว่า บริษัทฯ เราเล็ก จะทำอะไรก็จะต้องมีการแข่งขันอย่างสูง แต่เราจะต้องพยายามให้ได้งานที่เป็นของเล่นมากที่สุด ไม่ว่าของชิ้นนั้นจะเป็นเพียงแค่ของแถมในถุงขนมก็ตาม และ Club Creative ก็สามารถสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่และได้งานออกแบบของเล่นตามที่ตั้งใจไว้
หลังจากนั้นก็มีโอกาสไปพบกับคุณสุทธิชัย ผู้บริหาร Wonderworld โดยบังเอิญที่งานนิทรรศการ คุณสุทธิชัยก็ส่งต่อมอบงานออกแบบของเล่นจากทาง Wonderworld ให้อีกครั้ง ทำให้ตัวเองมีความสุขและสนุกกับงานออกแบบมากขึ้น ความชอบในอาชีพนี้ส่งผลให้งานการออกแบบของเล่นได้รับรางวัลมามากมาย เช่น รางวัล Toy Innovation Award ปี 2006 จากประเทศเยอรมัน เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักออกแบบที่มีสามารถสร้างสรรค์ของเล่นที่แปลกใหม่ไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเล่น เทคนิคการผลิต หรือวัสดุ เป็นต้น หรืองานออกแบบของเล่นภายใต้ชื่อ Stacking Town ผลงานการออกแบบของเล่นที่ถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Victoria and Albert ในกรุงลองดอน ประเทศอังกฤษ สถานที่รวบรวมผลงานการออกแบบชั้นหัวกะทิของโลก จากบริษัทฯที่ไม่ค่อยมีคนได้ยิน ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการงานออกแบบของเล่นมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับโจทย์งานออกแบบของเล่นที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นก็คือ งานออกแบบเกมเศรษฐกิจพอเพียง โดยการสนับสนุนของ 3 องค์กรหลัก คือตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจถึงแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านเนื้อหาเกมที่เล่น เป็นเกมที่สามารถพัฒนาชุมชน สังคม ตามที่ได้ตั้งใจไว้
Q: อยากให้ฝากข้อคิดสำหรับนักสร้างสรรค์ที่กำลังเริ่มต้นคิด ริเริ่มทำงานเพื่ออนาคตของเขา
A: ถ้าเราเริ่มจากสิ่งที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นอาชีพไหน เราก็จะมีความสุข สนุก และพร้อมที่จะทุ่มเทไปกับสิ่งที่เราทำ งานที่ออกมาก็จะประสบความสำเร็จดังใจหวัง และเมื่อเราได้ค่าตอบแทนมา สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้กับทุกท่านก็คือ การรู้จัก ‘แบ่งปัน’ กลับคืนสู่ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการบริจาค หรือการมีส่วนร่วมเข้าไปทำงานกับองค์กรต่างๆ อันเป็นการต่อยอดสร้างโอกาสให้กับอีกหลายๆ ท่านต่อไป
กว่า 8 ปีหลังจากบริษัท Club Creative ได้เปิดตัว รัตติกรได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เธอคือนักออกแบบของเล่นที่ไม่ได้ใช้ทักษะความสามารถไปที่การพัฒนาของเล่นเพียงอย่างเดียว แต่เธอยังนำหัวใจของนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปผนวกกับของเล่นที่เธอได้สร้างสรรค์ได้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เธอจะเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในแวดวงนักออกแบบของเล่น และได้ถูกเชิญไปบรรยายให้ความรู้ด้านการออกแบบของเล่นทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ภายใต้อาชีพที่เธอภูมิใจกับ Toy Designer นักออกแบบของเล่นที่ไม่จำกัดรูปแบบ วิธีการเล่น รวมไปถึงวัสดุที่ใช้ผลิต ที่อุทิศเวลาให้กับการพัฒนาของเล่นเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
[youtube url=”http://youtu.be/xVJpUyT9vzI” width=”600″ height=”335″]