“ผมก็ยังเป็นผมคนเดิม ทำสิ่งเดิม แต่การรับรู้ของคนเปลี่ยนไปแล้ว” ย้อนไปถึงวันที่ ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิกดีกรีด็อกเตอร์จากสถาบันอันดับ 1 อย่าง MIT กลับมาประเทศไทย เข้าสู่สายงานวิชาการ ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากที่เคยออกแบบอาคารขนาดใหญ่ไฮเทคเมื่ออยู่อเมริกา แต่ในเมืองไทยที่ไม่มีเทคโนโลยีล้ำหน้า และเขาก็ไม่มีเส้นสายที่จะผลักดันงานออกแบบไฮเทคเสียด้วย เพราะใจที่อยากจะออกแบบ ทำให้เขาใช้วันว่างจากงานสอน ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ขึ้นมา ซึ่งต่างจากคนอื่นตรงที่เขาเลือกหยิบเศษวัสดุจากไซท์ก่อสร้างมาออกแบบ
ณ วันนั้น ไม่มีใครให้ความสนใจกับสิ่งเหล่านี้ ซ้ำยังปรามาสว่าดร.สิงห์ จบมาสูงจากสถาบันชั้นเลิศ กลับมาทำอะไรไร้สาระ แต่เพียงชั่วพริบตางานเฟอร์นิเจอร์จากเศษวัสดุภายใต้ชื่อ Osisu ของเขาก็กลายเป็นผู้นำกระแสการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมไป และไม่เคยลงจากตำแหน่งเลย
Q: จุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์หยิบวัสดุที่ขึ้นชื่อว่าเป็นขยะจากการก่อสร้างมาทำดีไซน์
A: เพราะมันไม่มีชอยส์อื่น ในเมืองไทย ถ้าผมไม่มีงานออกแบบตึก ผมจะออกแบบอะไรล่ะ รถยนต์ เครื่องจักรเหรอ ทำไม่เป็น ก็เหลือแต่ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ แล้วจะเอาอะไรมาทำ ทุนเราก็ไม่มี ฉะนั้นเราก็เอาเศษๆ นี่แหละมาแก้ปัญหา อาคารที่บอกตัวเองว่ากรีนแล้วทิ้งของขนาดนี้เนี่ย มันกรีนจริงเหรอ เราก็เอาเศษๆ มาลอง ออกมาตอนแรกก็น่าเกลียด คือมันไม่ได้ดูดีทันที แต่มันเป็นของใกล้ตัว ผมก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองแก้ปัญหาได้หรอก แต่เครื่องมือที่เรามีคือการออกแบบ แล้วเราจะใช้มันอย่างไร คือถ้าเราทำไฮเทคไม่ได้ แล้วเห็นของที่อยู่ใกล้ตัว เอาซักหน่อยดีกว่าไหม
Q: ตอนที่เริ่มต้นทำ Osisu อาจารย์ต้องเจอความยากในรูปแบบไหนบ้าง แล้วข้ามมันมาอย่างไร
A: ยากในการทำความเข้าใจกับผลิตภัณฑ์ชิ้นเล็ก เพราะตอนอยู่อเมริกาผมออกแบบอาคาร พอมาทำของชิ้นเล็ก ผมก็ไม่เข้าใจมัน นี่คือยากอันที่หนึ่ง คือในเชิงเทคนิค ยากอันที่สอง คือช่าง ยากในการที่ทำให้ช่างที่ทำงานกับเราเขาเข้าใจ และยอมทำงานอย่างที่เราต้องการ ยากอันที่สาม คือการสื่อสารให้คนอื่นๆ เข้าใจ การแก้ปัญหาความยากแต่ละอย่างก็ต่างกัน ในเชิงเทคนิค อาจแก้ด้วยการทำต้นแบบ ซึ่งต้องใช้เงินเยอะ ในเชิงช่าง แก้ด้วยการคุยเยอะๆ และผมมี key success คือคุณจ๋า หุ้นส่วนซึ่งเป็นคนที่ชอบทุกอย่างที่เราทำออกมา เขาจึงตื่นเต้นกับทุกอย่าง พอช่างเห็นว่าคุณจ๋าชอบ เห็นว่ามีลูกค้าชอบ ช่างก็จะยอมทำง่ายขึ้น ส่วนยากอันที่สามคือการสื่อสาร เราแก้ด้วยการที่เราไม่เน้นขายของ เราให้ความรู้ เวลาออกงานแสดงสินค้า คนเข้ามาเราก็อธิบาย ให้ความรู้ หยิบเศษวัสดุมาให้ดู ให้เข้าใจ ไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร ถือเป็นการสร้างเพื่อน
Q: ทุกวันนี้ยังเจอความยากเหล่านั้นไหม
A: ในเชิงเทคนิคจะเจอตลอด เพราะวัสดุมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทีมงานก็ยังมีปัญหาเรื่อยๆ เพราะเศษมันต้องย้ายไปตามคนที่แก้ คนที่แก้เขาเอาด้วยก็ดีไป ส่วนการสื่อสารไม่ยากแล้ว คนเข้าใจแล้ว แต่จะทำให้ลูกค้าที่เป็นสถาปนิกใช้น่ะยาก เพราะวัสดุก่อสร้างต้องมีกฏต่างๆ เช่น การลามไฟ อะไรอย่างนี้ ทำให้วัสดุเราเอาไปใช้จริงน้อย ข้อนี้ยังยากอยู่ การที่เราจะทดสอบให้ผ่านเกณฑ์ทุกอย่างมันเป็นเรื่องที่ยากและแพงมาก จริงๆ แล้ววัสดุเหล่านี้ก็ใช้ได้แล้ว แต่ต้องเป็นเพื่อนๆ กันที่ยืนยันว่าจะใช้ แต่ถ้าไปลง catalog แล้วให้คนที่ไม่รู้จักเรา เขาจะคอยถามว่ามีตัวเลขกันลามไฟไหม มีค่า VOCs (Volatile organic compounds สารอินทรีย์ละเหยง่าย) ไหม ค่าต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานอยู่ ซึ่งให้เราไปเทียบกับของในท้องตลาดก็ยาก
Q: อาจารย์ทำงานกับวัสดุใหม่ตลอด ทุกครั้งจึงเหมือนกับต้องเริ่มต้นใหม่
A: ใช่ แต่ก็ฉลาดขึ้น รู้ว่ามีกี่วิธีที่ทำได้ แต่ก่อนจะงม ทดลองไปหมดทุกวิธี ตอนนี้รู้แล้ว พอเห็นวัสดุก็นึกวิธีต่างๆ ออก แต่นี่ก็คือข้อเสียด้วย คือพอเรารู้ปั๊บ เราก็จะใช้วิธี 5 – 6 แบบเดิมๆ แต่ก่อนเราไม่รู้ เราก็จะมีลิสท์วิธีต่างๆ ยาวมาก ลองสารพัด เจอ innovation แปลกๆ เยอะ แต่ปัจจุบันก็เริ่มคาดเดาได้ มันก็สนุกอยู่ แต่ทำให้เรามักง่ายในกระบวนการ ผมเลยเพิ่มกระบวนการหนึ่งเข้าไปว่า เมื่อได้เศษมา ต้องมาทำการทดลองก่อน ห้ามออกแบบทันที ถ้าออกแบบทันทีเราจะหยิบเครื่องมือเดิมๆ มาใช้ เราต้องปล่อยวางเหมือนไม่รู้ว่ามันคืออะไร ลองเย็บ เผา มัด เหยียบ กระทืบ ยืด ฝังดิน แช่น้ำ อะไรพวกนี้ จนกระทั่งเห็นศักยภาพบางอย่างของวัสดุที่เราไม่เคยนึกมาก่อน
Q: การเกิดขึ้นของ Osisu มีส่วนช่วยผลักดันอะไรใหม่ๆ ต่อคนอื่นในสังคม
A: ผมว่าเยอะมาก Osisu ทำอะไรที่ถูกโจมตีเยอะมาก ทำอะไรก็ไม่รู้ สนุกสนาน อาร์ตติสท์ เป็นเรื่องของเด็กรวยๆ มันทำกัน แต่ ณ ปัจจุบัน เห็นไหมว่ามีธุรกิจที่ทำจากเศษวัสดุเต็มไปหมด เด็กรุ่นใหม่ที่จบออกมาหยิบเศษวัสดุมาทำเยอะมาก ซึ่งผมว่าเป็นสิ่งที่ดี ผมว่ามันเป็นผลพวงของ Osisu แต่เขาเข้าใจผิด Osisu ไม่ได้ทำแต่เศษ Osisu พยายามเข้าไปแก้ที่ต้นน้ำก่อน เพราะ eco design ไม่ได้เอาเศษมาทำถึงเรียกว่า eco แต่ต้องลดเศษตั้งแต่ต้น คนไม่เข้าใจ มองว่าเราทำแต่เศษ แต่หารู้ไม่ว่า เราเข้าไปแก้ต้นน้ำก่อน ถ้าแก้ไม่ได้ ค่อยมาแก้ที่เศษ แต่เราแก้ต้นน้ำคุณจะเห็นไหม เช่น แก้ใบมีดให้คมขึ้น ไม่มีใครเห็น แก้ให้ฝุ่นในการผลิตน้อยลง ก็ไม่มีใครเห็น แก้ให้ไม่เหลือเศษเลย มีใครเห็นมั่ง ไม่มี ฉะนั้น ทำให้คนเข้าใจผิดเยอะมากว่า eco design คือนำเศษวัสดุมาออกแบบ แต่ไม่ใช่ มันเป็นปลายทางที่เราเอา creativity มาแก้ปัญหาที่ต้นน้ำแล้วมันทำไม่ได้
Q: ทราบมาว่าอาจารย์ทำ ScrapLab ที่มหาวิทยาลัยด้วย ScrapLab ช่วยงานสอนอย่างไรบ้าง
A: ScrabLab เป็นแล็บที่ตั้งขึ้น จากการที่ Osisu ประสบความสำเร็จมาก ท่านอธิการบดี รองศาสตราจารย์วุฒิชัย กปิลกาญจน์ ก็เห็นว่าผมไปทำอะไรข้างนอกเยอะ ท่านก็บอกผมว่า ทำไมถึงไม่เอาองค์ความรู้แบบนี้มาสอนในคณะบ้างล่ะ ผมก็โอ้! ไม่เคยคิด คิดว่าคนดูถูก เพราะเราเอาเศษขยะมาทำ ไม่คิดว่าถ้าเอามาสอนในมหาวิทยาลัยแล้วคนจะสนใจ แต่ท่านอธิการบอกเองและให้ทุนมาตั้งแล็บ โดยมี Osisu เป็นที่ปรึกษา แล้วก็ถอดกระบวนการของ Osisu มาสอนที่มหาวิทยาลัย
นักศึกษาจะได้เรียนรู้กระบวนการออกแบบวัสดุ ตั้งแต่ทำไมเราต้องศึกษาเรื่องเศษ เรียนรู้เรื่อง Green Manufacturing เรื่อง Green Supply Chain เรื่องการเก็บข้อมูล และการออกแบบเศษวัสดุ เขาจะเข้าใจว่าทำไมอาจารย์สิงห์ถึงทำสิ่งนี้ ทำด้วยกระบวนการอย่างไร แล้วโลกนี้ที่เขามีกระบวนการลด waste เขาลดอย่างไรบ้าง ผมสอนว่าแม้แต่คุณมีความคิดที่ดี แต่คุณไม่ได้นำมาใช้พัฒนา ความคิดที่ดีที่ถูกทิ้งไป ผมก็ถือว่าเป็นขยะ ถ้าคุณสามารถเอาความคิดที่ดีออกมาทำ ทุกวันทำ 1 ความคิดดีๆ ได้ คุณต้องทำ ขยะไม่ใช่สิ่งที่จับต้องได้อย่างเดียว เวลาที่คุณเอามานั่งเหม่อลอย ไร้สาระ นั่นเป็น waste คิดแล้วไม่ทำมีแต่ waste
คนที่เข้ามาเรียนก็ไม่จำกัด ทั้งเด็กสถาปัตย์ วิศวะ บัญชี สังคม มนุษยศาสตร์ คหกรรม เกษตร มีหมด คนที่ไม่ใช่นักศึกษาก็มาเรียนได้ เพราะธ.ไทยพาณิชย์ให้งบที่สอนสิ่งเหล่านี้ให้แก่ใครก็ได้ที่สนใจ ไม่ต้องลงทะเบียน มาเรียนฟรีๆ ขอให้มา เจ้าของโรงงานยังมานั่งฟังเยอะแยะ แต่ละคนเข้ามาเราให้คำปรึกษาหมด
Q: ทุกวันนี้แรงบันดาลใจในการทำงานของอาจารย์มาจากไหนคะ
A: ผมยังไม่รู้เลยนะ อาจเป็นทุกอย่าง ผมไปโรงงานเห็นเศษขยะ ก็เกิดแรงบันดาลใจ ผมเดินอยู่คุยกับเพื่อน แล้วเกิดนึกอะไรออกขึ้นมา ต้องขอจดก่อน สิ่งที่เราเห็นอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำ แต่มันไปจุดประกายอะไรบางอย่าง ผมจึงตอบไม่ได้ว่ามันมาจากไหน แต่ผมรู้สึกว่าชีวิตประจำวันของผมมันสามารถให้แรงบันดาลใจได้ตลอด ถ้าเราไม่เหนื่อย ผมจึงหวังอย่าให้ตัวเองเหนื่อยมาก ไม่อย่างนั้นแรงบันดาลใจผมจะริบหรี่มาก ผมต้องให้ตัวเองเฟรช ถ้าไม่เหนื่อยความคิดจะมาตลอด ผมมีสมุดบันทึกคู่ใจไว้จด เพราะตัวเองขี้ลืม ต่อให้หลับอยู่ คิดอะไรออกก็จะตื่นขึ้นมาจด จดทั้งๆ ที่ไม่เปิดไฟนั่นแหละ ตื่นมาก็ลืมแน่นอน แต่มีจดไว้ทำให้เราอ๋อ จำได้ บางคนคิดว่าผม creative มากหรือดีไซน์เก่งน่ะเข้าใจผิด เพราะความคิดสร้างสรรค์มันไม่เหมือนสวิทช์เปิดปิด ถ้าผมคิดไม่ออก ผมก็จะกลับมาดูที่ผมจดไว้ เราก็ได้ไอเดียมา บางคนเลยคิดว่าผมคิดออกตลอดเวลา จริงๆ ไม่ใช่ คิดไม่ออกก็กลับมาเปิด (หัวเราะ)
Q: อาจารย์คิดว่าดีไซน์ช่วยเปลี่ยนสังคมอย่างไรคะ
A: ผมว่าดีไซน์ช่วย drive สังคมเลยแหละ คนเราจะเข้าใจบางสิ่ง จะไปบางที่ที่ตัวเองชอบ ไม่ใช่เพราะดีไซน์เหรอ เสื้อผ้าที่เขาเลือกใส่ คิดว่าเขาเลือกจากความสบายเหรอ ไม่จริง ดีไซน์อยู่กับทุกอย่างรอบตัวเรานั่นแหละ เครื่องจักรแห่งอนาคตที่แท้จริงคือการออกแบบ คนมักคิดว่าเทคโนโลยีเคลื่อนโลก แต่คุณครับ เทคโนโลยีที่ออกแบบมามากมายในมหาวิทยาลัยขึ้นหิ้งซะเยอะ เพราะหน้าตาน่าเกลียด ก็ขายไม่ได้ ต้องมีการออกแบบ มัน drive เศรษฐกิจเลยครับ
ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมว่าการออกแบบมันแก้ความคิดคนได้มหาศาล อย่างเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากเศษขยะ การออกแบบก็ทำให้ดูดี และเพิ่มมูลค่าได้ คนก็ให้ความสนใจกันมาก ทั้งลูกค้าและผู้ผลิตรายใหม่ๆ จากของที่มองแล้วเขี่ยด้วยเท้าด้วยซ้ำ คนเริ่มเก็บมาทำแล้ว มีหลายแบรนด์ที่เขาก็เริ่มเก็บเศษวัสดุมาทำดีไซน์ ทุกอย่างมาจากดีไซน์และความคิดสร้างสรรค์ทั้งนั้น ผมคิดว่านี่แหละ Design can change the world.
Q: อาจารย์วางแผน Osisu หรืองานด้านสิ่งแวดล้อมไว้อย่างไรบ้างคะ
A: สำหรับ Osisu ผมหวังให้สักวันหนึ่ง มันจะเป็นตรารับรองสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถ้าใครเห็นตรา Osisu แปะอยู่บนผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตาม แม้แต่ที่เป็นของคนอื่นทำก็ตาม แต่คนเห็นก็รู้เลยว่ามันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นี่คือส่ิงที่ผมใฝ่ฝันมาก อย่างที่สอง คือผมอยากผลักดันและฝันที่จะเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ Eco Product ของโลก ถ้าคนนึกถึง Eco Product ก็จะไม่นึกถึงที่อื่น แต่นึกถึงประเทศไทย ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า แต่อยากทำให้ได้
ภาพ: Pasin Tamm Auttayatamavitaya
(ขอบคุณภาพเฟอร์นิเจอร์จาก TCDCCONNECT)