เทศกาลดนตรี เรียบ ง่าย กะทัดรัด สันติ เปี่ยมแรงบันดาลใจ

เมื่อพูดถึงอีเว้นท์และเทศกาลดนตรีในประเทศไทย ภาพซ้ำที่ผุดขึ้นในหัวคือ ธีมจัดงานสุดฮิปแหล่มเลิศตราสินค้าจากสปอนเซอร์ต่างๆ มากมายผุดโผล่ทุกมุมสายตา ตั้งแต่บนขวดน้ำดื่มไป จนถึงป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ศิลปินน้อยใหญ่บนเวทีที่มาให้ความมันพร้อมลำโพงเครื่องเสียงดังสนั่น (บางครั้งเสียงกรี๊ดของผู้ชมก็อาจดังกว่าเสียงร้องเพลงเสียด้วยซ้ำ) การหมุนเวียนของเม็ดเงินมหาศาลระหว่างผู้จัดงาน-สปอนเซอร์-ค่ายเพลง-นักดนตรี-ผู้ชม ฯลฯ อะไรต่างๆ ประมาณนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่เข้าใจได้หากเรามองด้วยหลักการตลาดและธุรกิจในอุตสาหกรรมดนตรี ธุรกิจหล่อเลี้ยงศิลปิน-ศิลปินก็หล่อเลี้ยงธุรกิจ โดยมีผู้ชมผู้ฟังเป็นตัวขับเคลื่อนให้วงจรดำเนินไป แม้แต่เทศกาลดนตรีของวงนอกกระแสที่เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ สุดท้ายก็กลายเป็นงานยักษ์ไปได้ด้วยธรรมชาติแห่งการเติบโตในโลกทุนนิยม

เกิดเป็นแรงบันดาลใจที่สร้างความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของกลุ่มคนดนตรีอินดี้กลุ่มหนึ่ง ที่อยากจะสร้างเทศกาลดนตรีที่ขับเคลื่อนด้วยความเรียบง่าย–กะเทาะเปลือกต่างๆ ออกแล้วบรรเลงดนตรีที่ช่วยปลดปล่อยให้เราหลุดพ้นจากความวุ่นวายอย่างแท้จริง (ไม่ใช่ดนตรีที่สร้างความวุ่นวาย)

เริ่มต้นในช่วงปลายปี 2554 ด้วยเทศกาลดนตรี ‘Stone Free’ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่ลานทุ่งกว้างล้อมรอบด้วยกำแพงหินผา ณ หุบเขาทุ่งเลี้ยงวัว ในซอยวัดหนองขริ้น อำเภอหนองยาวสูง ก่อนถึงตัวเมืองสระบุรี ด้วยแนวคิดง่ายๆ เพียงอยากให้เกิดพื้นที่แห่งการเล่นดนตรีและเสพดนตรีสดแบบไม่อึกทึกครึกโครม เคารพธรรมชาติแวดล้อม และสนับสนุนการทดลองทางศิลปะ แกนหลักที่ทำให้เกิดงานนี้ขึ้นคือแพนด้าเรคคอร์ด (ค่ายเพลงอินดี้ที่ดำรงอยู่ในวงการเพลงไทยมานานกว่าสิบปีแล้ว) นักดนตรีที่มาเล่นในงานนี้ส่วนใหญ่ก็มาจากค่ายแพนด้านี่เอง ประมาณสิบกว่าวง ร่วมกับมิตรสหายในวงการเพลงอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่อาจเทียบพวกเขากับวงดังๆ ใหญ่ๆ ระดับประเทศ แต่ไม่อาจปฏิเสธนะคะว่า แฟนเพลงของพวกเขาก็มีจำนวนไม่น้อยและเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่นพอสมควร

Stone Free ครั้งแรก จบลงไปอย่างสวยงามท่ามกลางความประทับใจของผู้ร่วมงานทุกคนทุกฝ่าย และเกิดเป็น Stone Free ครั้งที่สอง ในปีต่อมา เพิ่มเวลาเป็นสองวันสองคืน เพราะวงดนตรีเพิ่มจำนวนขึ้น แต่คอนเซ็ปต์หลักยังคงเดิม จนต่อมาช่วงต้นปี 2556 เทศกาลดนตรีอินดี้โฟล์ค ‘Keep on the Grass’ ครั้งแรกก็ได้ถือกำเนิดขึ้น (ด้วยทีมงานชุดเดิม) ณ ภูอุภัยรีสอร์ท อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี กลายเป็นเวทีกลางแจ้งท่ามกลางวิวทิวเขา 360 องศา ที่ความใหญ่ของพื้นที่ไม่ได้เพิ่มความดังของเครื่องเสียงให้ดังยิ่งขึ้นแต่อย่างใด เพราะโดยธรรมชาติแล้ว เมื่อเราเงียบ–เราจะได้ยินเสียงต่างๆ ชัดขึ้น เมื่อผู้ฟังตั้งใจฟัง ผู้เล่นก็ไม่จำเป็นต้องเล่นด้วยเสียงดังลั่น ไม่สร้างเสียงรบกวนธรรมชาติแวดล้อม ที่สำคัญเมื่อจบงานก็มีอาสาสมัครช่วยกันเก็บขยะจนไม่เหลือทิ้งไว้เป็นหลักฐานแห่งความมักง่าย หรือผลักภาระไปที่พนักงานเก็บขยะท่าเดียว (โอเค…คือมันก็มีสภาพของการเมารั่ว มีเศษขวดเบียร์และเศษขยะอยู่บ้างไรบ้างนะ แต่ไม่มีการป่วนระรานตีกัน และทุกคนมีสติพอจะให้ความร่วมมือกับทีมงานอย่างไม่ขัดข้อง)

การเจริญเติบโตของเทคโนโลยีและสิ่งปรุงแต่งทันสมัยต่างๆ ทำให้ฉันคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องป้อนข้อมูลให้ลูกหลานซึมซับเสียบ้างว่า “ความเรียบง่ายนั้นเป็นคนละเรื่องกับความน่าเบื่อ และยังเป็นคนละเรื่องกับความเรียบร้อยอีกด้วย” การทำอะไรเรียบๆ ง่ายๆ ไม่หวือหวา หาได้เป็นบ่อเกิดแห่งความซ้ำซากจำเจชวนเบื่อทุกครั้งเสมอไป เช่นเดียวกับงานเทศกาลดนตรีอย่าง Stone Free และ Keep on the Grass ที่ได้ส่งพลังงานเข้มข้นบางอย่างออกมาแบบเรียบๆ ให้เราเอาไว้ใช้ต่อกรกับความว้า-วุ่น-วายทั้งภายในและภายนอกกายได้อย่างไม่คาดคิด

‘Keep on the Grass’

[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=4Ylf_Ja_Kas” width=”600″ height=”340″]

[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=BZ5LZNRIDE4″ width=”600″ height=”340″]

Stone Free’

[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=Pcz6gWuRffU” width=”600″ height=”340″]

[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=bErQJYFa8hM” width=”600″ height=”340″]

อ้างอิง: Stone Free, Keep on the Grass