‘The Voice Project’ ประสานเสียงเพลงแห่งเสรีภาพต้านสงครามโคนี

ภาพสงครามอันโหดร้ายในแอฟริกากลางจากวิดีโอ ‘Kony 2012’ ยังติดตา หากใครจะรู้ว่า อีกฟากฝั่งยังมีกลุ่มสตรีตอบโต้การกระทำนั้นด้วยเสียงเพลงและจิตวิญญาณอย่างต่อเนื่อง

ใน The Voice Project มีอยู่หลายตัวละคร หากทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นเหมือนกันคือ ต่างได้รับความเจ็บปวดจากสงครามที่โจเซฟ โคนี หัวหน้ากองกำลังต่อต้านพระเจ้าในอูกันดา ได้ก่อขึ้นมาเกือบ 30 ปี จนขยายวงกว้างไปถึงสาธารณรัฐคองโก สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และซูดานใต้ เด็กชายถูกลักพาตัวเพื่อบังคับให้ร่วมกองกำลังรบ บ้างโดนสั่งให้ฆ่าครอบครัวตัวเองก่อนเข้าร่วม เพื่อไม่ให้หลงเหลือบ้านที่จะหนีกลับ เด็กหญิงถูกข่มขืน ทารุณกรรม บ้างถูกฆ่าทิ้งหลังจากนั้น บ้างให้เป็นทาสรับใช้ในกองทัพ ปรนเปรอทางเพศแก่คนอื่นๆ และหลายคนถูกทิ้งไว้ให้เผชิญชะตากรรมในถิ่นเดิม ซึ่งกลุ่มหลังนี้กลายมาเป็น ‘หัวใจที่น่ากราบ’ ของ The Voice Project ในเวลาต่อมา

พวกเธอที่ถูกทารุณกรรมและทิ้งไว้เบื้องหลังไม่เพียงต้องต่อสู้กับความเจ็บปวดในใจและยืนหยัดเพื่อมีชีวิตอยู่รอดเพียงอย่างเดียว แต่พวกเธอยังคิดถึงครอบครัวที่เคยมี สามีที่เคยรัก ลูกชายที่เคยปกปักษ์รักษาดังดวงใจ แต่บัดนี้ไม่เหลือแล้ว ด้วยพวกเขากลายเป็นผู้รับใช้โคนี โดยส่วนใหญ่ไม่เต็มใจ และเมื่อสงครามซาลงบ้างก็ยังไม่กล้ากลับบ้านด้วยละอายแก่ใจในการกระทำที่ผ่านมา พวกนางจึงรวมตัวกันขับร้องเพลงท้องถิ่น Dwog Paco อันมีความหมายว่า ‘กลับบ้าน’ เสียงร้องจากหมู่บ้านหนึ่งถ่ายทอดไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง เพลงเดียวกันแต่ให้ดังไกลออกไปเรื่อยๆ ด้วยหวังว่า เสียงเพลงนี้จะไปถึงชายผู้เป็นที่รัก พวกเขาจะได้รู้ว่า ตนได้รับการอภัยแล้วและได้โปรดกลับบ้านมาอยู่กับครอบครัว เราจะช่วยกันรักษาสภาพจิตใจให้เป็นหนึ่งเดียว

แรงบันดาลใจอันประเมินค่ามิได้นี้ก่อกำเนิด The Voice Project ในปี 2009 องค์กรไม่หวังผลกำไรที่ยังยึดการส่งสาส์นทางบทเพลง Dwog Paco เป็นหลัก หากนำคอนเสปต์เดียวกันไปต่อยอดกับกลุ่มศิลปินที่เข้าร่วมองค์กร โดยเริ่มจากศิลปิน A คัฟเวอร์เพลงที่ผูกพันกับตัวเขาและมีความหมายที่ดีของศิลปิน B แล้วส่งให้เจ้าของเพลงได้ฟัง ศิลปิน B ก็จะเลือกเพลงของศิลปิน C แล้วคัฟเวอร์ต่อๆ กันไป เป็นการส่งสาส์นทางบทเพลงให้ทั่วโลกรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่นี่ เข้าใจในความปรารถนาที่ดูเหมือนเกินจะเยียวยา แต่กลุ่มสตรีที่บอบช้ำมาก่อนกลุ่มนี้ก็ไม่เคยท้อแท้ ไฉนเล่าเราเพียงผู้รับรู้และผู้ฟัง จะท้อถอยแค่เพราะนึกสงสารและพูดเอาง่ายๆ ว่าปลงเสียเถิด

นอกจากในส่วนนี้แล้ว The Voice Project ยังร่วมกับองค์กรสหประชาชาติเปิดคลื่นวิทยุท้องถิ่นตามประเทศต่างๆ ส่งต่อข้อความของครอบครัวถึงชายที่หายไป และถ่ายทอดเพลงเหล่านี้ออกอากาศ จนถึงวันนี้เพลงมีมากขึ้น แต่ไม่ใช่แค่กลุ่มสตรีผู้ริเริ่มหรือศิลปิน หากยังมีบทเพลงจาก ‘กลุ่มชายผู้กลับบ้านแล้ว’ อีกด้วย

เราอาจไม่มีความสามารถถ่ายทอดบทเพลงเหมือนพวกเธอและเหล่าศิลปิน แต่เรามีหัวใจที่ช่วยสืบสานเสรีภาพบนโลกได้ ทั้งการบริจาคและการส่งต่อให้ผู้คนรับรู้เรื่องราวดีๆ ซึ่งน่าจะมีหลายเรื่องที่ถูกใจคุณและคุณอยากให้มันเกิดขึ้นจริง – เราเชื่อว่าคุณทำได้ เพียงส่งเสียงของคุณออกไปเท่านั้น

 

‘I Am The Mother’ วิดีโอที่บ่งบอกแก่นแท้ของ The Voice Project

[youtube url=”http://youtu.be/k-jX0ATfI9Y” width=”600″ height=”335″]

 

เสียงเพลง Dwog Paco จากคณะประสานเสียงสตรีกูลู

[youtube url=”http://youtu.be/k0niR_sAS1M” width=”600″ height=”335″]

 

คณะประสานเสียงสตรีกูลูร้องเพลง ‘Suitcase’ ของโจ เพอร์ดี

[youtube url=”http://youtu.be/1bSPePSdxoY” width=”600″ height=”335″]

 

โจ เพอร์ดี ร้องเพลง ‘Swan Swan H’ ของวง R.E.M.

[youtube url=”http://youtu.be/51Y77_JtzbU” width=”600″ height=”335″]

 

ไมก์ มิลส์ มือเบสของ R.E.M. คัฟเวอร์เพลง ‘Sing Their Souls Back Home’ ของบิลลี่ แบรกก์

[youtube url=”http://youtu.be/8Yl9BsSqUbk” width=”600″ height=”335″]

 

บิลลี่ แบรกก์ หนึ่งในตำนานศิลปินรุ่นใหญ่ ร้องเพลง ‘On A Good Day’ ของสาวโจแอนนา นิวซัม

[youtube url=”http://youtu.be/NJxLjUpV8n0″ width=”600″ height=”335″]

 

คอนเซ็ปต์ของ The Voice Project สืบทอดกันไปไม่รู้จบ อาจมีไม่ต่อเนื่องบ้าง แต่พวกเขาไม่เคยหยุด

การกระจายเสียงวิทยุแบบง่ายๆ ที่ร่วมมือกับ UN ส่งต่อข้อความจากแม่ถึงลูกชายผู้ยังหายไป

กิจกรรมเสริมสร้างอาชีพให้แก่กลุ่มสตรีเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญขององค์กร

ผ้าพันคอ Dwog Paco เป็นหนึ่งในสินค้าที่วางจำหน่ายผ่านเว็บไซต์เพื่อหารายได้เข้าองค์กร โดยในผืนผ้าจะมีการพิมพ์เนื้อเพลงเอาไว้

อ้างอิง : The Voice Project