‘Quinta Monroy’ เคหะการแนวคิดใหม่ ออกแบบเผื่อชีวิตอนาคต

ปัญหาที่พักอาศัยไม่เพียงพอ และราคาสูงเมื่อเทียบกับรายได้ที่น้อยของคนหาเช้ากินค่ำซึ่งต้องพาตัวเองมาอยู่ในเมืองใหญ่ หลายครั้งมันกลายเป็นสิ่งเริ่มต้นของสลัมและปัญหาไม่รู้จบ แม้ว่าทางภาครัฐในหลายประเทศจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไรก็ดูว่ามันกลายเป็นโจทย์ที่ไม่เคยจะแก้ได้แตกง่ายๆ เสียที แต่โจทย์ที่มีที่มาจากเหล่าผู้มีรายได้ปานกลางของชิลีที่ต้องการที่พักอาศัย แต่ต้องให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพวกเขาด้วย คำตอบที่นำเสนอนี้มันถูกเล่าผ่านสถาปัตยกรรม ณ เมืองอิกคีเค ประเทศชิลี

จากการแก้ปัญหาของสถาปนิกที่รวมตัวกันในนาม ELEMENTAL พวกเขาตั้งโจทย์จากปัญหาของการย้ายชุมชนเดิมที่มีการบุกรุกที่ดินอย่างผิดกฎหมายกันมากว่า 30 ปี เมื่อชุมชนนี้ต้องย้ายออกไปจากที่เดิม แต่ปัญหาคือเรื่องแหล่งงานเดิมที่ต้องพึ่งพิงความเป็นละแวกเมืองเป็นหลัก การย้ายให้พวกเขามีบ้านหลังใหญ่ขึ้นมาก แต่มันไกลเมืองจนกระทบชีวิตเดิมของพวกเขาก็ไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก ดังที่เราจะเห็นได้จากกรณีศึกษาในบ้านเราที่มีการขายสิทธิ์ของการเคหะที่ผู้ขายเป็นผู้ได้รับสิทธิ์เดิม แต่ไม่สามารถปรับตัวต่อสถาปัตยกรรมที่รัฐสร้างเป็นสวัสดิการให้ พวกเขาจึงขายสิทธิ์และกลับไปอยู่สลัมตามเดิม

การออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้อยู่อาศัยจึงสำคัญมาก ในการแก้ปัญหานี้ ELEMENTAL ได้คำนึงถึงพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยการเคหะของรัฐที่มักจะต่อเติมที่อยู่อาศัยเดิมอย่างสะเปะสะปะไร้แนวทาง แต่เมื่อชีวิตสำคัญกว่าสถาปัตยกรรมชาวบ้านก็ไม่มีทางเลือกนอกจากค่อยๆ ต่อเติมจนกลายเป็นว่าอยู่อาศัยไม่ได้ สถาปนิกจึงเสนอทางเลือกด้วยการออกแบบให้มีการวางแผนต่อเติม โดยออกแบบให้เป็นบ้านแถวความสูง 3 ชั้น แบ่งตัวบ้านออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกสร้างไว้ให้พออยู่อาศัยในระยะแรก แต่เมื่อครอบครัวมีการขยายมากขึ้นช่องว่างที่ตระเตรียมไว้จะกลายเป็นห้องต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของสมาชิกครอบครัว การที่พวกเขาเลือกที่จะให้ต่อเติมในแนวดิ่งก็เพื่อการแก้ปัญหาของการต่อเติมโดยมี่การวางแผนที่ทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศที่ไม่ดี การเข้าถึงของแสงแดดในบ้านซึ่งสำคัญต่อสุขภาวะ

แม้ว่าเราจะชินกับภาพลักษณ์ของอาคารที่พักอาศัยที่รัฐจัดให้ด้วยสภาพที่ไม่อยากเข้าไปอาศัยนัก แต่ถ้าเราลองตั้งโจทย์จากคำถามที่ดี ที่อยู่อาศัยเดิมๆ ของคนรายได้น้อยจะมีคุณภาพที่ดีขึ้น ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแน่นอน

อ้างอิง : Alejandro Aravenaarchdaily