หลายคนเลือกที่จะปลูกสิ่งก่อสร้าง โดยไม่ทำลายต้นไม้ที่เติบโตคู่พื้นที่มานานแสนนาน ในขณะที่ฝ่ายคู่ตรงข้าม (ที่ดูเหมือนจะมีอำนาจมากกว่า) เลือกที่จะยัดเยียดความตายให้กับต้นไม้เพื่อสร้างป่าคอนกรีต โดยหยิบยกคำว่า ‘ความเจริญของเมืองใหญ่’ มาเป็นตัวฟอกความผิด แนวคิดเช่นนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แต่ในอีกหลายๆ ประเทศก็เผชิญกับปัญหาที่ป่าคอนกรีตโตสวนทางกับปริมาณต้นไม้ โดยเฉพาะกับผลิตผลทางการเกษตรที่แทบจะหาพื้นที่ปลูกต้นไม้ในเมืองใหญ่ไม่ได้เลย
ปฏิบัติการตามล่าหาพื้นที่เพาะปลูกพืชออร์กานิคในป่าคอนกรีต เป็นแนวคิดที่ Annelies Kuiper จาก Dakboerin ประเทศเนเธอร์แลนด์ มุ่งมั่นที่จะพลิกเมืองใหญ่ให้กลายเป็นพื้นที่เกษตร โดยเธอได้รับแรงบันดาลใจจากบทความใน Green Amsterdam ที่ตีพิมพ์เมื่อสองปีที่ผ่านมา และนั่นเป็นที่มาที่เธอตัดสินใจพัฒนารูปแบบการเพาะปลูกพืชออร์กานิคบนหลังคาอาคาร ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งที่หลงเหลืออยู่ในเมืองใหญ่ พร้อมตัวอย่างจากหลายเมืองในอเมริกา อย่าง ชิคาโก หรือนิวยอร์ก ที่ทำได้แล้วจริงๆ …ในเบื้องต้นเธอเลือกปลูกพืชออร์แกนิคที่สอดคล้องกับการบริโภคของผู้ใช้พื้นที่ภายในอาคารนั้นๆ เพื่อให้เจ้าของพื้นที่ได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด เช่น การปลูกผักบนหลังคาโรงเรียน เพื่อใช้พืชเหล่านั้นสำหรับการบริโภคภายในโรงเรียน หรือการปลูกผัก ผลไม้ และเบอร์รี่บนหลังคาภัตตาคาร เพื่อสามารถแปรรูปมาเป็นอาหารสำหรับลูกค้าที่เข้ามาในร้าน เป็นต้น ทั้งนี้เธอได้พัฒนารูปแบบของการปลูกพืชจากเดิมที่ต้องใช้ดินจำนวนมาก แถมมีน้ำหนักเยอะ มาเป็นการปลูกโดยใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาแทนการใช้ดิน (Natural Substrate Culture) เพื่อเป็นที่ยึดเกาะของรากและเป็นแหล่งสะสมสารละลายพวกธาตุอาหาร และอากาศ
และนี่คือแนวคิดของนักสร้างสรรค์ที่ไม่เคยยอมแพ้กับเมืองที่เปลี่ยนไป เพราะตราบใดที่หัวใจยังมีสีเขียว ‘พื้นที่’ อันเล็กน้อยที่อาจเป็นอุปสรรคก็ไม่สามารถหยุดยั้งแนวคิดในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในทุกตารางนิ้วที่เรามีโอกาส
Annelies Kuiper
The rooftop restaurant Uncommon Ground in Chicago, USA
Eagle Street Rooftop Farm in Brooklyn, New York
The Gary Comer Youth Center Roof Garden, Chicago
อ้างอิง : www.dakboerin.nl