พูดถึงการปั่นจักรยาน หลายคนอาจนึกเพียงว่า ‘มันกำลังฮิต’ แต่คุณรู้หรือไม่ ว่าในหลายประเทศทั่วโลกกำลังรณรงค์ให้คนหันมาปั่นจักรยานให้กลายเป็นนิสัย เพื่อช่วยกันคนละมือละไม้กับปัญหาสภาวะโลกที่กำลังร้อนจนจะไหม้ในไม่ช้า และเช่นกันที่เชียงใหม่ก็มี ‘Here we go!’ ไม่ว่าคุณจะคือใคร ขี่จักรยานประเภทไหน อาชีพ วัย สัญชาติ หรือเพศใด เพียงคุณคือหนึ่งคนที่อยากเห็นเมืองที่รักเป้นเมืองที่น่าอยู่ด้วยการใช้จักรยานแทนรถยนต์
‘Here we go!’ เป็นกลุ่มคนรักการปั่นจักรยาน ที่ชวนกันปั่นในทุกคืนวันเสาร์สุดท้ายของเดือน ซึ่งจัดมาหกครั้งแล้ว โดยเริ่มจากปากต่อปากที่ชวนเพื่อนและคนรู้จักไปปั่น รวมทั้งบอกต่อๆ กันผ่านโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คจนขยายวงกว้างขึ้น กิจกรรมล่าสุดดูจะเป็นงานช้างก็ว่าได้กับ Here we go! # Go! Nature ที่ถูกจัดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน Thailand International Balloon Festival 2012 ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2555 นี้ที่เชียงใหม่ ด้วยเหตุผลพื้นฐานง่ายๆ ว่า ‘ใช้จักรยานแทนรถ ประหยัดที่ได้ตั้งเยอะ!’ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ ‘HERE WE GO 1‘
ย้อนกลับไปสักสามปีที่แล้ว เชียงใหม่เป็นเมืองที่ผู้คนขี่จักรยานกันคึกคักมาก ‘ขี่โดยไม่ได้รู้สึกว่าเป็นของแปลกอะไร’ มีชมรมจักรยานทั้งแบบปั่นกลางวันและกลางคืนหลายกลุ่ม เมื่อเวลาผ่านไป จำนวนกลุ่มมากขึ้น ก็เริ่มมีการแบ่งแยกประเภทและระดับของจักรยาน เมื่อมีการแบ่งแยกแข่งขัน ก็ทำให้คนคิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง และนึกถึงคนอื่นน้อยลง สองปีหลังที่ผ่านมาเรียกว่าเป็น ‘ยุคมืดของจักรยาน’ ก็ว่าได้
กระทั่งเมื่อถึงวัน car free day กลุ่ม Here we go จึงเริ่มชวนกันออกมาปั่นจักรยาน ด้วยความหวังที่พวกเขาแอบคิดว่า “ปั่นจักรยานแบบมีกำแพงกั้นไว้ มันไม่สนุกหรอก” ซึ่งเมื่อเริ่มชวนคนนั้นคนนี้ กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ออกมาปั่นออกกำลังกายกันแบบไม่แบ่งแยก รวมทั้งกีฬาประเภทมีล้อทั้งหลายที่มีความเร็วใกล้เคียงกับจักรยานก็เข้ามาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเวคบอร์ด โรลเลอร์เบลด ฯลฯ ก็ทำให้เส้นบางๆ หายไปและกลายเป็น ‘จักรยานวันเสาร์’ ที่ใช้วิธีออกจดหมายชวนคนมาปั่น โดยมีการทำการบ้านมาก่อนในเรื่องของแผนที่เมืองเชียงใหม่ เพื่อวางแผนเส้นทางปั่นที่จะสามารถแวะจอดกินข้าวกัน มีจุดนัดพบประจำเพื่อรวมพลตอนสองทุ่มที่ตลาดท่าแพ ซึ่งหากใครมารวมพลไม่ทัน ก็สามารถไปดักเจอตามจุดสำคัญๆ ของเมืองได้ วิธีส่งข่าวสารของการปั่นในแต่ละเสาร์ ก็กระจายผ่านเอาทางโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วยโลโก้เครื่องหมายบวกสีเขียว ที่แต่แรกนั้น มันไม่ได้มีเนื้อหาอะไรเลย นอกไปจากสัญลักษณ์เพื่อจะบอกว่า ‘ปะ …ออกไปด้วยกัน’
‘Here we go!’ ครั้งที่ 1 เป็นเพียงการส่งข่าวสารผ่านทางเฟสบุ๊ค และปากต่อปากไปยังผู้สนใจ แต่มีจักรยานมาร่วมปั่นไปด้วยกันถึง 200 คัน และตามด้วยครั้งที่ 2 ที่มากันหมดทุกเพศทุกวัย แทบจะทุกอาชีพ ทั้งตำรวจ คุณหมอ คุณลุงคุณป้า ชาวต่างชาติ ชาวบ้านท่าแพ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะทำงานช่วงกลางวัน การชวนกันปั่นในช่วงกลางคืนโดยเฉพาะวันเสาร์จึงเป็นอะไรที่ค่อนข้างลงตัวสำหรับทุกคน วิธีการก็ไม่ได้ยากอะไรเลย รวมพลสองทุ่ม ล้อหมุนสามทุ่ม โดยในแต่ละเสาร์จะมีกลุ่มจักรยานผู้ปั่นนำ ซึ่งแต่ละเสาร์จะมีการหมุนเวียนผู้ปั่นนำ ส่วนเส้นทางที่จะไปก็ขึ้นอยู่กับว่าในเสาร์นั้นๆ ผู้นำอยากจะให้เพื่อนๆ Here we go! ที่ปั่นมาด้วยกันได้เห็นอะไร ด้วยระยะทางการปั่นประมาณ 10 กม. ความเร็วจำกัดที่ 20-30 กม./ชั่วโมง โดยทุกครั้งของการปั่น ทีมงานจะปั่นรั้งท้ายเพื่อให้แน่ใจว่าเก็บคนครบ ทั้งยังมีการเตรียมอุปกรณ์ปะยางไปด้วยและบางโอกาสก็เตรียมสามล้อเครื่องไว้เพื่อให้ขับตาม เผื่อกรณีเหตุฉุกเฉิก กิจกรรมปั่นจักรยานรอบดึกอาจดูอันตรายสักหน่อยสำหรับบางคนที่บ้านอยู่ไกลมากๆ เช่น จากสันกำแพงหรือดอยสะเก็ด แผนรองรับจึงเกิดขึ้นในเวลาต่อมาคือ ‘ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน’ กับการจับกลุ่มคนที่บ้านอยู่บนเส้นทางเดียวกัน เวลาปั่นกลับก็ให้ไปด้วยกันเพื่อเป็นการส่งทุกคนให้ใกล้บ้านที่สุด
ทีมงานเล่าให้ฟังถึงความประทับใจล่าสุดที่ให้กลุ่มน้องๆ ‘รถพับคลับช้างคลาน’ เป็นผู้ปั่นนำว่า “คราวนั้น น้องๆ เขาพาไปชุมชนมุสลิมของเขา ซึ่งเป็นวันปีใหม่มุสลิมพอดี ซึ่งกลายเป็นว่า เราทั้งหมดในวันนั้นที่ปั่นไปด้วยกัน คือแขกวีไอพีของชุมชน มีทั้งหนังกลางแปลง มีอาหาร แถมเขาเอาน้ำมาเลี้ยงเราอีก มันน่ารักมาก” และเหตุผลง่ายๆ ของการชวนคนออกมาทำกิจกรรมร่วมกันของกลุ่ม Here we go! ก็เพื่อเป็นการออกกำลังกายกันนั่นเอง
[vimeo url=”http://vimeo.com/48149929″ width=”600″ height=”338″]
อ้างอิง: HERE WE GO 1, อิ่มบุญ สตูดิโอ