ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในปัญหาระดับโลกทุกวันนี้คือ ‘ขยะล้นเมือง’ เกิดการย่อยสลายไม่ทันการเกิดใหม่ แต่การแก้ปัญหาระดับ ‘โลก’ นี้ต้องเริ่มจากระดับเล็กๆ เช่น ‘บุคคล ครอบครัว หรือ ระดับชุมชน’ ด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกการบริโภคและรับผิดชอบ แต่ดีกว่านี้ได้อีก หากการสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบเหล่านี้มาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน และเพิ่มรายได้ไปในตัว
‘ธนาคารขยะออมทรัพย์’ คือ แผนธุรกิจพัฒนาชุมชนแบบครบวงจร เป็นโครงการที่เกิดจากแนวคิดและแรงบันดาลใจ จากความต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนให้ดีขึ้น โดยการใช้ขยะมูลฝอยเป็นตัวขับเคลื่อน
ฉัตรศนัน มาสว่างไพโรจน์ – เจ้าของไอเดียและผู้ก่อตั้ง กิจการเพื่อสังคม ‘ธนาคารขยะออมทรัพย์’ อดีตพนักงานประจำ เรียกตัวเองว่า ‘ผู้ก่อการดี’ เธอเชื่อว่าทุกคนช่วยเหลือประเทศได้ จากวิธีที่ง่ายที่สุด โดยเริ่มจากตัวเอง ในการลดปริมาณขยะ คัดแยกวัสดุเหลือใช้ แล้วเอาไปสร้างสรรค์ เพื่อขายเป็นรายได้กลับให้คนในชุมชน และสามารถช่วยคนที่ไม่มีรายได้ประจำให้มีรายได้เสริม เน้นความสัมพันธ์ในชุมชน ช่วยกันคัดแยกขยะเป็นนิสัย การฝากรู้จักออม และสร้างวินัยชุมชนอย่างยั่งยืน
ธนาคารขยะออมทรัพย์ เป็นแผนธุรกิจเพื่อสังคม ในการจัดการขยะในรูปแบบธนาคาร ที่ส่งเข้าประกวดและได้รับทุนจากบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) ปี 2012 รูปแบบโครงการคือ รับซื้อขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ พร้อมศูนย์การเรียนรู้ในการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ สอนงานสร้างสรรค์เป็นสินค้าหลากหลายเพื่อยืดอายุอายุวัสดุ พร้อมจัดทำเว็บไซต์ในการจัดจำหน่ายสินค้าแปรรูปจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อนำรายได้กลับมาพัฒนาชุมชนต่อไป
โดยโครงการสาขาแรก ฉัตรศนัน ได้เริ่มที่เคหะดินแดง ชุมชนของเธอเองกับที่พักอาศัยกว่า 3,000 ยูนิต โดยเปิดให้สมาชิกถือหุ้นธนาคารเป็นเพื่อนร่วมทางกิจการ ทุกคนมีส่วนร่วมได้ เป็นโครงสร้างง่ายๆที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทุกพื้นที่ เพียงให้ความสำคัญกับที่ที่เราอยู่ ก็ช่วยทำให้ชุมชนดีขึ้นได้แล้ว
[youtube url=”http://www.youtube.com/watch?v=0_E9AspU-kg&feature=relmfu” width=”600″ height=”338″]
‘ธนาคารขยะออมทรัพย์’ เป็นหนึ่งในโจทย์ของ ครีเอทีฟสร้างสรรค์ iCare Award 2012
อ้างอิง: กรุงเทพฯธุรกิจ, iCareClub, ชุมชนกลุ่มรวมมิตร 2011