ทำไมคนไทยจึงอ่านหนังสือน้อยกว่าคนญี่ปุ่น? มีผลวิจัยบอกว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยแค่ปีละ 2 เล่ม ขณะเดียวกันคนญี่ปุ่นมีอัตราการอ่านหนังสือมากกว่าคนไทยถึง 40 เล่มต่อปี หรือประมาณ แล้วมากกว่า 20 เท่า เท่ากับว่า ถ้าสมมติว่าการศึกษาเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแล้ว คนญี่ปุ่น 1 คน มีความสามารถเทียบเท่ากับเอาคนไทยมารวมกับ 20 คนเลยทีเดียว พูดอย่างนี้อาจจะแรงไป แต่เราทุกคนก็รู้ดีกันอยู่แล้วว่าว่าการศึกษาคือปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ
นิสัยรักการอ่านน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนอ่านหนังสือ ที่ประเทศญี่ปุ่น The Tokyo Newspaper หรือ Tōkyō Shinbun (東京新聞) คือหนังสือพิมพ์รายวันที่อยู่คู่คนญี่ปุ่นมานานถึง 128 ปี The Tokyo Newspaper ได้มีความคิดที่ว่า หนังสือพิมพ์นั้นเป็นสื่อที่เฉพาะให้ผู้ใหญ่อ่าน ไม่ใช่ของเด็ก แต่จะดีกว่าไหมถ้าเด็กๆ สามารถอ่านได้ด้วย เพราะจะช่วยส่งเสริมการอ่านของเด็กๆ และเด็กๆ ก็สามารถติดตามข่าวสารบ้านเมืองแทนที่จะได้ความรู้จากการ์ตูนแทน นอกจากนั้น หากทั้งผู้ใหญ่และเด็กสามารถอ่านด้วยกันได้ ก็จะช่วยส่งเสริมความรักความเข้าใจของครอบครัว
แต่ที่เรารู้หนังสือพิมพ์นั้นไม่ได้เหมาะให้เด็กอ่านมากนัก เพราะเนื้อหาส่วนมากเป็นเรื่องยากๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ ยิ่งที่ญี่ปุ่นมีกาารใช้ภาษาคันจิค่อนข้างมาก (คันจิ คือภาษาญี่ปุ่นรูปแบบหนึ่งนอกเหนือจาก ฮิรางานะ และคาตาคะนะ โดยคันจินั้นเป็นรูปแบบภาษาที่ยืมตัวอักษรจีนมาใช้ เนื่องจากอักษรจีนนั้น มีจำนวนนับไม่ถ้วนทำให้ยากต่อการเรียนรู้และจดจำ) ทำให้เป็นอุปสรรคต่อเด็กในการอ่านหนังสือพิมพ์
ด้วยเทคโนโลยี AR ในสมัยนี้ (Augmented Reality คือเทคโนโลยีที่ผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนมาเจอกัน ทำให้สามารถสร้าง Interactive ระหว่างคนกับอุปกรณ์ได้) ทำให้ทางหนังสือพิมพ์ The Tokyo Newspaper ได้ออกแอพบนมือถือ Smart Phone ให้เด็กได้นำมือถือไปลากอ่านบนบนหนังสือพิมพ์ให้สามารถอ่านข่าวต่างๆ ได้แบบที่ย่อยง่ายขึ้น เช่น มีสีสันน่าดึงดูดและเข้าใจได้ง่าย อาทิ การมีตัวการ์ตูนน่ารักๆ ปรากฏออกมาให้รู้สึกว่าการอ่านสนุกขึ้น นอกจากนั้นยังแปลงภาษาคันจิที่ค่อนข้างยากให้กลายเป็นภาษาญี่ปุ่นรูปแบบอื่นให้เด็กอ่านได้เข้าใจได้อีกด้วย
เด็กจึงได้อยู่กับผู้ใหญ่ อ่านหนังสือพิมพ์ด้วยกัน หากมีเรื่องสงสัยก็ถามพ่อแม่ได้ว่าข่าวที่ว่านั้นหมายถึงอะไร ผู้ใหญ่ก็สามารถที่จะพูดคุยกับเด็กได้มากขึ้น การที่เด็กได้สนใจเรื่องต่างๆ ทำให้เด็กได้พัฒนาและมีความเข้าใจในโลกของผู้ใหญ่ได้เร็วขึ้น ซึ่งก็จะสามารถเป็นพื้นฐานของเด็กในการเลือกเติบโตไปในทางที่ต้องการได้ นอกจากนั้นยังทำให้เด็กได้เข้าใจถึงคำว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิต ถือเป็นพลพลอยได้นอกเหนือจากที่เด็กได้อ่านหนังสือมากขึ้นด้วย
สำหรับเมืองไทย การที่จะทำให้คนอ่านหนังสือมากขึ้นอาจจะต้องย้อนกลับมาดูว่าเป็นเพราะสาเหตุใด ปมหนึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับมุมมองที่เกี่ยวกับการอ่านหนังสือ เราอาจมองว่าการอ่านหนังสือคือเครื่องมือที่แค่่ทำให้เราเรียนจบหรือเป็นใบเบิกทางให้เรามีงานทำ หรือทำให้พ่อแม่พอใจเท่านั้นหรือเปล่า ดังนั้นการแก้ไขที่เรามองนั้นควรมีมุมมองทั้งด้าน Supply และ ด้าน Demand ตามหลักเศรษฐศาสตร์ด้วย การที่เราแก้ไขโดยเน้นไปที่ Supply เช่น การกระจายหนังสือให้คนเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น มีทางเลือกในการอ่านหนังสือให้มากขึ้น หรือมีหนังสือดีๆให้อ่าน นั้นอาจจะง่ายกว่า แต่ก็คงยังไม่พอ ในด้าน Demand หากพวกเรายังมองว่าการอ่านหนังสือนั้นไม่จำเป็นสำหรับชีวิต ไม่ปลูกฝังความอยากรู้อยากเห็น ก็ยากที่จะยกระดับการอ่านหนังสือของคนไทยหรือเด็กได้
ผมมีความเชื่อว่าหากเราอยากเป็นเมืองของการอ่านหนังสือโลก เราก็ต้องเป็นเมืองของความอยากรู้อยากเห็นของโลกเช่นเดียวกัน
[youtube url=”http://youtu.be/2ouW5W_tMbg” width=”600″ height=”340″]