Dyslexie (ดีสเล็กซี่) ฟ้อนท์สำหรับอาการอ่านหนังสือไม่ออก


Dyslexia (ดิสเล็กเซีย) อาจเป็นคำที่ไม่คุ้นหูสำหรับใครหลายคน แต่ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านภาษาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่แกะกล่องแต่อย่างใด ซึ่งใครที่ยังไม่รู้ เราขออธิบายภาวะที่ว่านี้ให้เห็นภาพชัดขึ้นเสียก่อน สำหรับในคนปกติ การอ่านและสะกดคำจะเกิดขึ้นเมื่อมีการรับข้อมูลจากประสาทสัมผัสแล้วส่งต่อไปยังสมองส่วนทาลามัส โดยสมองส่วนดังกล่าวมีไว้เพื่อแปลข้อมูลและการมองเห็น จากนั้นสมองก็จะประมวลผลจนเกิดภาพทำให้สามารถแปลข้อมูลและอ่านได้ทันที เพราะฉะนั้นปัญหาของผู้มีอาการ Dyslexia เหล่านั้นจึงเกิดขึ้นจากความผิดปกติของสมองส่วนทาลามัสนั่นเอง โดยสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้มีอาการก็คือตัวอักษรจะค่อยๆ ปรากฏและเดินทางมาสู่สมองส่วนที่แปลความช้ากว่าคนปกติ ทำให้พวกเขาอ่านหนังสือได้ช้ากว่าคนทั่วไป รวมทั้งมีข้อจำกัดในการแยกแยะตัวอักษรที่มีความคล้ายคลึงกัน เป็นต้นว่า v กับ w หรือ i กับ j เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาหลักในการประสมคำและนำมาซึ่งการอ่านตะกุกตะกักในที่สุด

ด้วยอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้ ได้ไปสร้างแรงบันดาลใจให้ Christian Boer นักออกแบบจากอัมสเตอร์ดัมคนนี้สร้างสรรค์ชุดอักษรที่ชื่อ Dyslexie (ดิสเล็กซี่) ขึ้นเมื่อ 8 ปีก่อน หลังจากที่ Boer เข้าไปศึกษาลักษณะการรับรู้และการมองเห็นของผู้มีอาการ Dyslexia แล้ว เขาจึงนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาใช้เป็นข้อกำหนดในการปรับลักษณะตัวอักษรภาษาอังกฤษเพื่อสร้างความสะดวกในการอ่านให้กลุ่มผู้มีอาการดังกล่าวมากขึ้น ด้วยการนำตัวอักษรที่มักจะอ่านผิดบ่อยๆ มาเพิ่มองค์ประกอบบางอย่างเข้าไปเพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจนขึ้น เป็นต้นว่า อักษรบางตัวจะถูกออกแบบให้ส่วนฐานมีความหนามากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาการมองตัวอักษรกลับหัว ขณะที่อักษรบางตัวจะมีหางที่ยาวขึ้น เช่น การเพิ่มความยาวด้านบนของตัว h เพื่อช่วยในการแยกความต่างจากอักษร n เรื่อยไปจนถึงการเพิ่มความกว้างของตัว c เพื่อให้สามารถแยกออกจากอักษรตัว e เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้คนซึ่งมีภาวะดังกล่าวสามารถรับรู้ความต่างของตัวอักษรแต่ละตัว ไปจนถึงการแยกประโยคออกจากกันได้สะดวกมากขึ้น

หากมองในแง้ความสวยงาม ตัวอักษรในฟอนท์ Dyslexie อาจไม่ตอบโจทย์ในจุดนั้นเท่าใดนัก แต่หากเรามองในแง่ของเจตนาแล้วล่ะก็ Dyslexie น่าจะได้คะแนนเกินร้อย และแม้ว่าฟอนต์ชุดนี้จะไม่ใช่วิธีรักษาให้อาการเหล่านี้หายขาด แต่เป็นการออกแบบตัวช่วยเพื่อให้ชีวิตของผู้มีอาการเหล่านี้ง่ายขึ้นอย่างที่ Boer เคยพูดถึงก็ตาม แต่ ‘การมองปัญหาให้เป็นโอกาสและสร้างโอกาสให้กับผู้อื่น’ นั้น ก็เป็นอะไรที่ไม่ธรรมดาและน่าเอาเป็นตัวอย่างไม่น้อยเลยล่ะ

[youtube url=”http://youtu.be/VLtYFcHx7ec” width=”600″ height=”350″]

 

อ้างอิง: StudioStudio