รณรงค์การใช้รถไฟฟ้าผ่านโปสเตอร์ดีไซน์น่ารักที่ใครๆ ก็เข้าใจได้

ทุกครั้งที่ขึ้นรถไฟฟ้าไม่ว่าจะลอยฟ้าหรือมุดดิน ผมมักจะเจอเหตุการณ์ท่ีผู้โดยสารเห็นแก่ความสะดวกสบายของตนเองโดยอ้างคำว่า ‘ฉันมีสิทธิ’ มากกว่าการเอื้อเฟื้อพื้นที่สาธารณะให้กับ ‘สิทธิของผู้อื่น’ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ชินตาก็มีตั้งแต่ การแซงคิวขึ้นรถไฟฟ้า = * = การยืนพิงเสา > * < การคำนับพื้นหรือแกล้งหลับต่อหน้าผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือ -___-‘ หรือแม้กระทั่งการเล่นโทรศัพท์มือถือ ไอแพด ขวางทางเข้าออก + ___+ ฯลฯ และไม่ว่าจะมีเสียงประกาศเตือน หรือจะเป็นคำเตือนผ่านป้ายสัญลักษณ์ ก็ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นผล

หันไปประเทศที่ญี่ปุ่น ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีผู้คนใช้รถไฟฟ้ามากสุดโต่ง แออัดยัดเยียดเบียดกันชนิดหน้าชนผมหลังชนกันโดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ทำให้หลายๆ คนมองข้ามความเป็นระเบียบที่ว่านี้ไป ทาง Metro Culture Foundation จึงทำการออกแบบโปสเตอร์สำหรับติดที่สถานีเพื่อเป็นการตอกย้ำถึงมารยาทการใช้พื้นที่สาธารณะ แต่ที่เด็ดและโดนใจก็เห็นจะเป็นการออกแบบโปสเตอร์ชุดล่าสุด 12 ภาพ ที่ออกเผยแพร่ในช่วงเดือนเมษายน 2012 – มีนาคม 2013 ใช้ภาพวาดของบุนเปอิ โยริฟูจิ (นักวาดภาพประกอบ) ทำหน้าที่สื่อสารแทนคำพูด ทำให้เราสามารถเข้าใจความหมายโดยไม่ต้องอ่านข้อความประกอบเลย เช่น ภาพผู้ชายลากกระเป๋าอย่างเร่งรีบจนลืมระมัดระวังกระเป๋าที่อาจทำลายสิ่งของได้ ภาพประตูหนีบหัวเพื่อสื่อให้คุณเห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องเร่งรีบขนาดนั้น ภาพน้ำหยดจากร่มซึ่งทำให้ภายในรถไฟฟ้าและพื้นชานชลาเปียกแฉะเลอะเทอะ ภาพการนั่งกางขาโดยไม่เหลือพื้นที่ให้ผู้อื่น ภาพการพูดจาที่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น ภาพการยืนออกันบริเวณประตูทำให้การเข้าออกยากลำบาก ภาพการใช้อุปกรณ์สื่อสารแบบเวอร์สุดโต่ง หรือฟังเพลงผ่านหูฟังที่เปิดเสียงดังจนสร้างความรำคาญกับผู้อื่น เป็นต้น ส่วนชุดภาพโปสเตอร์ก่อนนหน้านี้ได้มีการนำสัตว์ เช่น แมว สุนัข นก ลูกเจี๊ยบ ฯลฯ มาเป็นภาพประกอบเพื่อสื่อสารถึงมารยาทในการใช้พื้นที่สาธารณะ เสริมสร้างความน่ารัก ดูอ่อนโยน แต่แฝงไว้ด้วยพลังของการสื่อสาร

จะว่าไปแล้ว เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเลย แต่การรณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ภาพและข้อความอย่างง่ายๆ มาเป็นสื่อกลาง สามารถเตือนให้ผู้ใช้เคารพสิทธิของผู้อื่นมากกว่ายึดมั่นถือยึดกับสิทธิของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ว่าจะรณรงค์มากเท่าไหร่ ถ้าผู้ใช้ขาดความสำนึก ต่อให้ติดโปสเตอร์ไว้ที่กระจกส่องหน้าในบ้านตัวเอง ก็คงไม่มีความหมาย ^ ( Y ) ^

อ้างอิง :  Metro Cultural Foundation