Landfill Harmonic: เครื่องดนตรีขยะ เปลี่ยนสลัมด้วยเสียงดนตรี

เชลโล่หนึ่งตัว ราคาสักกี่บาท?  แต่ชุมชนสลัมแห่งนี้ไม่เสียสตางค์สักบาทเพราะประกอบเอาเอง เป็นเชลโล่ที่ upcycle จาก ‘ขยะของคนอื่น กลายเป็นชีวิตของเรา’ ได้ฝึกทั้งกึ๋น ลดปัญหายาเสพติดในชุมชน สร้างอาชีพ และสร้างความภูมิใจให้กับคนในอาณาจักรขยะว่า ‘คุณค่าความเป็นมนุษย์ ใช่ตัดสินแค่เพียงเสื้อขาดวิ่นที่เขาสวมใส่’

Cateura สลัมในประเทศปารากวัย ตั้งอยู่ด้านบนของเขตพื้นที่ฝังกลบขยะ ชุมชนละแวกนี้ใช้ชีวิต อยู่ กิน และนอนกับขยะ หาเลี้ยงชีพด้วยการคัดเลือกชิ้นส่วนขยะมารีไซเคิลและนำไปขาย ส่วนใหญ่ของคนในสลัมและผู้ที่อาศัยใกล้เคียงกว่า 2500 ครอบครัว ไม่ได้เรียนหนังสือ สิ่งที่ตามมาจึงเป็นปัญหาในเรื่องยาเสพติดและกลุ่มแก๊งค์มิจฉาชีพ ครูประจำท้องถิ่น Favio Chavez เข้าใจปัญหาเหล่านี้ดี เขาเริ่มคิดว่า ในฐานะของอาชีพครูแล้ว เขาจะทำอะไรให้กับชุมชนได้บ้าง จึงตัดสินใจสอนดนตรีให้กับเด็กๆ ด้วยเครื่องดนตรีส่วนตัวที่เขาพอมีอยู่ เพื่อหวังให้เป็นกิจกรรมยามว่างและอาจช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจสมาชิกชุมชนได้สอนไปสอนมา จำนวนคนที่อยากเรียนก็เพิ่มมากขึ้น กระทั่งเครื่องดนตรีที่มีอยู่นั้นไม่พอกับความต้องการ บวกกับมีคนเก็บเศษโครงของไวโอลินจากกองขยะได้พอดี ไอดียของการ upcycle ขยะให้เป็นเครื่องดนตรีจึงเริ่มขึ้นจากจุดนั้น

พวกเขาทดลองสร้างเชลโล่จากขยะด้วยกระป๋องน้ำมัน เศษไม้ และค้อนทุบเนื้อ ซึ่งถือว่าได้ผลเกิดคาด เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นเชลโล่ตัวเดียวในโลกไม่ซ้ำใครแน่ๆ แล้ว เชลโล่จากขยะตัวนี้ยังถูกต่อยอดความคิดไปสู่การสร้างเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ กระทั่งบรรยากาศพื้นที่สลัมเน่าเหม็นที่เคยตึงเครียดเริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลง เด็กๆ ใช้เวลาไปกับการฝึกฝนทักษะทางดนตรี  พวกเขาอยู่กับมันมากเสียจนสาวน้อยนักไวโอลินคนหนึ่งบอกว่า “เสียงไวโอลินทำให้รู้สึกเหมือนมีผีเสื้อกำลังบินอยู่ในท้อง” ในขณะที่สมาชิกชุมชนอีกคนพูดถึงดนตรีว่า “ถ้าไม่มีดนตรี ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าชีวิตจะอยู่ได้ยังไง” ส่วนพ่อแม่เองก็เบาใจว่า ที่ลูกหายไป ไม่ได้ไปติดยาที่ไหน แต่ติดดนตรีงอมแงม โด เร มี กันทั้งวัน! ในที่สุดครู Favio จึงสร้างวงดนตรีออเคสตราขึ้น ชื่อว่า ‘Landfill Harmonic’ ซึ่งสำหรับเขาแล้ว ‘ชุมชนสลัมเหล่านี้ ทำให้เราเห็นถึงคุณค่าของขยะที่เราทิ้งไป ซึ่งเราเองก็ต้องไม่ปล่อยทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลังอย่างไร้ค่าเช่นกัน การเดินทางไปแสดงดนตรีตามเมืองใกล้เคียงต่างๆ ของ Landfill Harmonic ทำให้พวกเขากลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ มีผู้คนหลายสาขาอาชีพทั่วโลกส่งกำลังใจ และชิ้นส่วนที่คิดว่าจะสามารถประกอบเป็นเครื่องดนตรีได้มาให้เขาถึงที่ และเรื่องราวของเสียงดนตรีจากสลัมแห่งนี้กำลังถูกถ่ายทำเป็นภาพยนตร์สารคดี เพื่อจะนำเผยแพร่ต่อไป

…แล้วคุณล่ะ นอกจากอาชีพจะสร้างรายได้ให้คุณมีกินมีใช้แล้ว สังคมที่คุณยืนอยู่ทุกวันนี้ คุณเคยคิดจะทำอะไรเพื่อตอบแทนบ้างหรือยัง

อ้างอิง: Landfill Harmonic